เปิดทุกวัน 8:00 น. - 17.00 น

เวลาทำการ

Follow Us

มดลูกต่ำ-มดลูกหย่อนมีลูกได้ไหม? ป้องกัน และรักษาอย่างไร?

ภาวะมดลูกหย่อนอาจทำให้หน่วงตึงบริเวณอุ้งเชิงกราน ท้องน้อย และช่องคลอ

มดลูกต่ำ มดลูกหย่อนมีลูกได้ไหม? คงเป็นคำถามคาใจว่าที่คุณแม่ ที่กำลังเตรียมความพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ ดังนั้นเพื่อช่วยทำความเข้าใจในเรื่องภาวะมดลูกต่ำและมดลูกหย่อนคล้อยให้มากขึ้นเพื่อตอบข้อสงสัยและคลายความวิตกกังวลนี้ เราจะพาไปทำความรู้จักกับภาวะนี้กันให้มากขึ้น และเข้าใจถึงผลกระทบของภาวะมดลูกหย่อนที่มีต่อการตั้งครรภ์ พร้อมแนวทางในการรักษามาแนะนำกัน

1. ภาวะมดลูกต่ำกับการตั้งครรภ์

หากถามว่าผู้หญิงที่มีภาวะมดลูกหย่อน มดลูกต่ำท้องได้ไหม? ตอบได้เลยว่าผู้หญิงที่มดลูกหย่อนหรือมดลูกต่ำสามารถตั้งครรภ์ได้เป็นปกติ และภาวะมดลูกต่ำ มดลูกหย่อน ไม่ได้ทำให้มีลูกยากเสมอไป เนื่องจากตำแหน่งของมดลูกนั้นไม่ได้ส่งผลต่อความสามารถในการปฏิสนธิของไข่ และอสุจิ อีกทั้งภาวะมีบุตรยากนั้นอาจเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพของไข่ คุณภาพของอสุจิ และอื่น ๆ ด้วย

อย่างไรก็ตามภาวะมดลูกหย่อนหรือมดลูกต่ำนั้น อาจทำให้เกิดผลกระทบบางอย่าง และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ได้ เช่น อัตราการแท้งบุตรสูงขึ้น หรือการคลอดก่อนกำหนด ดังนั้นหากมีภาวะเหล่านี้ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อเตรียมความพร้อม วางแผนจะตั้งครรภ์ และรับการดูแลอย่างใกล้ชิด

2. มดลูกต่ำ เกิดจากอะไร

มดลูก เป็นอวัยวะสำคัญในการตั้งครรภ์และคลอดบุตร ซึ่งภายในอุ้งเชิงกรานจะมีกล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่อที่ยึดอวัยวะอย่างมดลูกให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง แต่กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อเหล่านี้อาจอ่อนแรงลง และทำให้มดลูกตกลงมาอยู่ในตำแหน่งที่ต่ำกว่าปกติได้ ด้วยสาเหตุที่พบบ่อยเหล่านี้

การตั้งครรภ์และการคลอด

การตั้งครรภ์และการคลอดลูกทางช่องคลอด เนื่องจากในระหว่างการตั้งครรภ์และคลอด กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานจะขยายตัวออกเพื่อรองรับทารก และเมื่อคลอดแล้วกล้ามเนื้อเหล่านั้นอาจไม่กลับสู่สภาพเดิมได้อย่างสมบูรณ์

น้ำหนักตัวเยอะ

น้ำหนักตัวที่มากเกินไปจะก่อให้เกิดแรงกดทับบริเวณท้องและอุ้งเชิงกราน ทำให้มดลูกค่อย ๆ ตกลงมาจากตำแหน่งปกติ และเกิดเป็นภาวะมดลูกต่ำ หรือมดลูกหย่อนได้

อายุมากขึ้น

เมื่อผู้หญิงมีอายุมากขึ้น โดยเฉพาะในวัยหมดประจำเดือน ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรนในร่างกายจะลดลง ทำให้เนื้อเยื่อบริเวณอุ้งเชิงกราน กล้ามเนื้อมดลูก และกล้ามเนื้อรอบ ๆ อ่อนแอลงตามไปด้วย ทำให้เกิดภาวะมดลูกหย่อนได้

ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ

ปัญหาสุขภาพ เช่น ท้องผูก เนื้องอกในมดลูก หรือการไอรุนแรงและเรื้อรัง ล้วนก่อให้เกิดแรงดันบริเวณอุ้งเชิงกราน ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแอ และมดลูกค่อย ๆ ร่วงหย่อนลงมาจากตำแหน่งเดิมได้เช่นกัน

3. อาการของคนที่มีมดลูกต่ำ

ในระยะแรก ผู้หญิงที่มีมดลูกต่ำอาจไม่มีอาการใด ๆ แต่เมื่อมดลูกตกลงมาต่ำมากขึ้น อาจเริ่มมีอาการดังนี้

  1. รู้สึกหน่วงตึงบริเวณอุ้งเชิงกราน บริเวณท้องน้อย หรือบริเวณช่องคลอด
  2. ปวดหลัง ปวดขา หรือรู้สึกชาบริเวณอวัยวะเพศ
  3. ปัสสาวะไม่สุด หรือไม่สามารถยั้งปัสสาวะได้
  4. เจ็บเมื่อมีเพศสัมพันธ์ หรืออาจมีอาการปวดท้องน้อยหลังมีเพศสัมพันธ์
  5. มีก้อนนูนหรือแน่นที่อวัยวะเพศ จากการที่มดลูกต่ำลงมา

4. วิธีการรักษา

ภาวะมดลูกหย่อน มดลูกต่ำ สามารถรักษาได้ด้วยวิธีการที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของมดลูก อายุ และความต้องการมีลูก เช่น

  1. การใส่อุปกรณ์พยุงมดลูก เพื่อช่วยให้มดลูกกลับสู่ตำแหน่งปกติ เช่น ห่วงมดลูก ซึ่งวิธีการนี้จะเหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการมีลูกแล้ว
  2. การผ่าตัด เหมาะสำหรับผู้ที่มีภาวะมดลูกต่ำรุนแรง โดยจะเป็นการผ่าตัดเพื่อนำเนื้อเยื่อส่วนอื่นหรือเนื้อเยื่อสังเคราะห์มาปะเนื้อเยื่ออุ้งเชิงกรานส่วนที่สึกหรอ หรือในกรณีที่ไม่ต้องการมีลูกแล้วแพทย์อาจแนะนำให้การผ่าตัดมดลูกออกก็ได้
  3. การใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน เพื่อยึดเหนี่ยวกล้ามเนื้อในบริเวณนั้นให้แข็งแรงดังเดิม เหมาะกับกรณีที่มีภาวะหย่อนตัวไม่รุนแรง

การออกกำลังกายบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน

5. วิธีป้องกันภาวะมดลูกหย่อน มดลูกต่ำ

บริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน

การบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกราน และป้องกันภาวะมดลูกหย่อนได้

รักษาอาการป่วยเรื้อรัง

การรักษาอาการป่วยเรื้อรังอย่างการไอเรื้อรัง หรือท้องผูกเป็นประจำ ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดแรงดันบริเวณอุ้งเชิงกราน เป็นหนึ่งในสาเหตุของภาวะมดลูกหย่อน การรักษาอาการเหล่านี้ให้หายจะช่วยลดความเสี่ยงเกิดภาวะนี้ได้

เลี่ยงยกของหนัก

หากต้องการหลีกเลี่ยงแรงดันบริเวณอุ้งเชิงกราน การเลี่ยงยกของหนักก็เป็นอีกหนึ่งพฤติกรรมที่ควรทำ เนื่องจากการออกแรงยกของหนัก ๆ จะเพิ่มความเสี่ยงของภาวะมดลูกหย่อนได้

ออกกำลังกาย

การออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอกจากจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ในร่างกายแล้ว ยังมีส่วนช่วยในการควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม และลดความเสี่ยงการเกิดภาวะมดลูกหย่อนได้อีกด้วย

 

ทั้งหมดนี้คงช่วยตอบคำถามให้คุณแล้วว่ามดลูกต่ำทำให้มีลูกยากไหม? หวังว่าบทความนี้จะช่วยคลายความกังวลได้แล้วว่าภาวะมดลูกต่ำ มดลูกหย่อน ไม่ได้ทำให้มีลูกยากแต่อย่างใด และช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้ที่ต้องการสร้างครอบครัวได้มากขึ้น ซึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการทำอิ๊กซี่ (ICSI) เพื่อเพิ่มโอกาสในการมีลูก มาปรึกษาสูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร ซึ่งให้บริการครอบคลุม ทั้งการให้คำปรึกษา ตรวจวินิจฉัย และให้การรักษาคู่รักที่ประสบปัญหามีบุตรยากจากสาเหตุต่าง ๆ ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย ห้องปฏิบัติการได้มาตรฐานระดับสากล

บทความโดย แพทย์หญิงวนากานต์ สิงหเสนา

ติดต่อสอบถามหรือนัดหมายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่
VFC ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร
Hotline : 082-903-2035
Line : @vfccenter

 

ข้อมูลอ้างอิง:

  1. มดลูกหย่อนหรือมดลูกต่ำ. สืบค้นเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 จาก https://www.pobpad.com/มดลูกหย่อนหรือมดลูกต่ำ
  2. มดลูกต่ำ สาเหตุ อาการ การรักษา. สืบค้นเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 จาก https://hellokhunmor.com/สุขภาพทางเพศ/มดลูกต่ำ-สาเหตุ-อาการ-การรักษา/
No Comments

Sorry, the comment form is closed at this time.