เปิดทุกวัน 8:00 น. - 17.00 น

เวลาทำการ

Follow Us

การเก็บไข่ ทางเลือกใหม่เพื่อคนเตรียมตั้งครรภ์!

เรื่องควรรู้ของการเก็บไข่

การมีไข่ที่สมบูรณ์แข็งแรง คือปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์และทำให้ทารกที่คลอดออกมามีสุขภาพที่ดี แต่ยิ่งอายุมากขึ้น ไข่ของผู้หญิงก็ยิ่งเสื่อมสภาพและมีจำนวนลดลงจนอาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์ได้ เทคโนโลยีการเก็บไข่หรือการฝากไข่จึงถูกคิดค้นและพัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบรับความต้องการของคนยุคใหม่ที่นิยมมีลูกช้ากว่าคนในอดีต 

สำหรับผู้หญิงที่ยังไม่พร้อมจะมีลูกในตอนนี้ แต่วางแผนไว้ในอนาคต และอยากเพิ่มความมั่นใจด้วยการฝากไข่เอาไว้ก่อน อาจมีคำถามในใจเกี่ยวกับการเก็บไข่หลายข้อ ทั้งวิธีการทำว่าเจ็บไหม มีขั้นตอนอย่างไร หรือคำถามอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง วันนี้เรามีข้อมูลที่ควรรู้เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ รับรองว่าจะมาตอบให้ครบ ติดตามได้เลย  

 

การเก็บไข่คืออะไร มีข้อดีอย่างไร?

การเก็บไข่ (Egg Freezing) คือ การเก็บรักษาเซลล์ไข่เอาไว้ในอุณหภูมิ -196 องศาเซลเซียส เพื่อคงคุณภาพ และช่วยเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์แม้ว่าจะมีอายุมากขึ้น อีกทั้งยังจะช่วยลดความเสี่ยงในการมีความผิดปกติทางโครโมโซม และการเป็นดาวน์ซินโดรมสำหรับทารกที่จะเกิดมาได้ โดยข้อดีของการเก็บไข่ก็มีหลากหลายประการ ได้แก่

  • สามารถวางแผนและเลือกช่วงเวลาที่ต้องการตั้งครรภ์ได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าไข่จะเสื่อมคุณภาพหรือมีจำนวนลดลงไปตามวัยของผู้หญิง
  • ลดความเสี่ยงทารกเกิดมาพร้อมความผิดปกติทางโครโมโซมหรือเป็นดาวน์ซินโดรม
  • สามารถแช่แข็งเซลล์ไข่เก็บไว้ได้นานสูงสุดถึง 10 ปี
  • ไข่ที่นำไปแช่แข็ง เมื่อนำมาละลายแล้วมีอัตราการอยู่รอดค่อนข้างสูง

 

ขั้นตอนในการเก็บไข่

สำหรับกระบวนการในการฝากไข่นั้น หลังจากเข้ารับการปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและนัดหมายวันเพื่อทำการเก็บเซลล์ไข่แล้ว จะมีขั้นตอนในการฝากไข่ทั้งหมด 6 ขั้นตอนด้วยกัน ดังนี้

การตรวจเลือดและฮอร์โมน

อันดับแรก แพทย์จะทำการตรวจร่างกายของผู้ฝากไข่ให้แน่ใจว่าสมบูรณ์แข็งแรงดีหรือไม่เสียก่อน โดยเริ่มต้นจากการเจาะเลือดเพื่อตรวจหาโรคติดเชื้อ รวมถึงเพื่อดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด กรุ๊ปเลือด และโรคทางพันธุกรรมต่าง ๆ เช่น โรคไวรัสตับอักเสบ โรคธาลัสซีเมีย โรคหัดเยอรมัน เป็นต้น

จากนั้นจะเป็นการตรวจความสมบูรณ์ของมดลูกและรังไข่ ตรวจอัลตราซาวนด์ทางช่องคลอด และตรวจระดับฮอร์โมนที่บ่งบอกปริมาณสำรองของไข่ที่เหลืออยู่ในรังไข่

การกระตุ้นรังไข่

เมื่อตรวจร่างกายเสร็จ ลำดับถัดไปจะเป็นการกระตุ้นรังไข่ให้ผลิตไข่ในขนาดที่ต้องการด้วยการฉีดยา Gonadotropins ควบคู่กับยา GnRH antagonist เพื่อป้องกันไข่ตกก่อนเวลาอันควร โดยปริมาณของยาที่ใช้จะขึ้นอยู่กับอายุและฮอร์โมนของผู้ฝากไข่ 

การติดตามขนาดไข่

หลังจากเริ่มฉีดยากระตุ้นไข่ จะใช้เวลาอีกประมาณ 3-5 วัน ก่อนที่แพทย์จะนัดเจาะเลือดเพื่อตรวจวัดฮอร์โมนรังไข่อีกครั้ง และเช็กการเจริญเติบโตของไข่ด้วยการอัลตราซาวนด์ หากมีขนาดที่เหมาะสม ก็จะเข้าสู่กระบวนการฉีดยากระตุ้นให้ไข่ตกต่อไปซึ่งจะใช้เวลาฉีดยากระตุ้นไข่ทั้งหมด 8-10 วัน

การฉีดยากระตุ้นให้ไข่ตก

สำหรับยาที่แพทย์จะใช้ฉีดเพื่อกระตุ้นให้ไข่ตกนั้น ได้แก่ยา HCG และ GnRH agonist ซึ่งจะใช้ยาชนิดใดในปริมาณเท่าไหร่นั้น แพทย์จะวางแผนเป็นรายบุคคลไป โดยจะพิจารณาจากอายุและฮอร์โมนเป็นหลัก

การเก็บไข่

เมื่อฉีดยากระตุ้นให้ไข่ตกแล้ว 34-36 ชั่วโมงต่อมา แพทย์จะอัลตราซาวนด์ดูตำแหน่งไข่ให้ชัดเจน แล้วนำเข็มสอดเข้าไปในรังไข่ผ่านทางช่องคลอดเพื่อเก็บเซลล์ไข่ออกมา ขั้นตอนนี้จะใช้เวลาประมาณ 30 นาที หลังจากเก็บไข่เสร็จ จะต้องนอนพักประมาณ 1-2 ชั่วโมง จากนั้นสามารถกลับบ้านไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ

การแช่แข็งไข่

หลังจากเก็บไข่เสร็จเรียบร้อย ก็มาถึงขั้นตอนสุดท้าย นั่นก็คือการแช่แข็งไข่ โดยแพทย์จะบรรจุเซลล์ไข่ใส่หลอดแก้วแล้วนำไปแช่แข็งไว้ที่อุณหภูมิ -196 องศาเซลเซียส รอเวลาที่คุณผู้หญิงพร้อมจะตั้งครรภ์และนำออกมาปฏิสนธิต่อไป เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการ

การเก็บไข่เจ็บไหม

ตอบข้อสงสัย การเก็บไข่เจ็บไหม?

จากขั้นตอนในการเก็บไข่ที่เรากล่าวไปข้างต้น อาจทำให้หลายคนรู้สึกกลัวว่าขั้นตอนเก็บไข่เหล่านี้จะเจ็บไหม บอกเลยว่าไม่ต้องกังวล เพราะระหว่างที่แพทย์ทำการเก็บไข่จะมีการให้ยาสลบก่อน คุณจึงไม่รู้สึกเจ็บปวดแต่อย่างใด แต่หลังจากกระบวนการเก็บไข่เสร็จ อาจรู้สึกปวดหน่วงบริเวณท้องน้อยหรือแน่นท้องเล็กน้อย ซึ่งสามารถทานยาตามที่แพทย์แนะนำได้ 

 

วิธีปฏิบัติตัวก่อนและหลังจากเก็บไข่

สำหรับผู้ที่ตัดสินใจจะฝากไข่แล้วอยากวางแผนดูแลตัวเองอย่างถูกวิธีก่อนเริ่มต้นกระบวนการ รวมถึงการดูแลตัวเองหลังจากฝากไข่เสร็จเรียบร้อยแล้ว สามารถปฏิบัติตัวง่าย ๆ ดังนี้

วิธีปฏิบัติตัวก่อนเก็บไข่

  • กินอาหารมีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะโปรตีน และควรหลีกเลี่ยงของหมักดอง รวมถึงของสุก ๆ ดิบ ๆ
  • พักผ่อนให้เพียงพอ นอนหลับอย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวัน
  • ทำจิตใจให้สบาย ผ่อนคลาย ไม่เครียด
  • กินอาหารเสริมหรือวิตามินตามที่แพทย์แนะนำ

วิธีปฏิบัติตัวหลังเก็บไข่

  • พักผ่อนมาก ๆ ทำจิตใจให้สดชื่น 
  • งดมีเพศสัมพันธ์ ยกของหนัก และออกกำลังกายหลังการเก็บไข่ 1 สัปดาห์ 
  • กินยาหรือเหน็บยาตามที่แพทย์สั่ง 
  • หากพบอาการผิดปกติ เช่น ปวดท้องมาก ไข้สูง คลื่นไส้ อาเจียน ควรมาพบแพทย์อีกครั้ง

 

ควรเก็บไข่ตอนอายุเท่าไหร่ดี?

สำหรับผู้ที่วางแผนจะมีลูกในอนาคตและสนใจอยากเก็บไข่เอาไว้ แนะนำว่าควรเก็บไข่ช่วงอายุ 25-35 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยเจริญพันธุ์ ร่างกายผลิตไข่ได้จำนวนมากและมีสภาพสมบูรณ์ที่สุด และหลังจากช่วงอายุนี้ ไข่ก็จะเริ่มเสื่อมคุณภาพและมีจำนวนลดลง ทำให้อัตราประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์ลดลงตามไปด้วย

 

สนใจอยากเก็บไข่เพื่อวางแผนตั้งครรภ์ในอนาคต ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่ศูนย์รักษาการมีบุตรยาก VFC ที่พร้อมช่วยคุณวางแผนและทำการรักษาด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย ปลอดภัย พร้อมแพ็กเกจเก็บไข่หรือฝากไข่ราคาพิเศษ เพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์ ให้ลูกน้อยของคุณสมบูรณ์แข็งแรง อยู่ในความดูแลของแพทย์เฉพาะทางผู้มากประสบการณ์ตั้งแต่วันแรก

 

ติดต่อสอบถามหรือนัดหมายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่ 

VFC ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร 

Hotline: 082-903-2035

LINE Official: @vfccenter  

 

บทความโดย: แพทย์ศรมน ทรงวีรธรรม

No Comments

Sorry, the comment form is closed at this time.