เปิดทุกวัน 8:00 น. - 17.00 น

เวลาทำการ

Follow Us

การตรวจหาสาเหตุและวิธีรักษาภาวะมีบุตรยาก

คู่รักปรึกษาแพทย์เพื่อรักษาภาวะมีบุตรยาก

คู่รักที่กำลังวางแผนสร้างครอบครัว และพยายามมีบุตรด้วยวิธีธรรมชาติมานานกว่า 1 ปี แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ อาจเป็นเพราะเกิดภาวะมีบุตรยาก ซึ่งภาวะนี้สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุทั้งกับผู้หญิงและผู้ชาย และแน่นอนว่าจำเป็นที่จะต้องใช้วิธีรักษาที่แตกต่างกันไป 

ในบทความนี้เราจะพาผู้ที่กำลังวางแผนมีบุตร ไปทำความรู้จักกับวิธีการตรวจหาสาเหตุ พร้อมแนวทางการรักษาภาวะมีบุตรยากในวิธีต่าง ๆ เพื่อให้รู้ถึงผลลัพธ์และการเตรียมตัวสู่การรักษาที่เหมาะสมที่สุด

 

การตรวจหาภาวะมีบุตรยากก่อนรักษาภาวะมีบุตรยาก

การตรวจหาภาวะมีบุตรยากสำหรับคุณผู้หญิง

  การตรวจหาภาวะมีบุตรยากในฝ่ายหญิงจะเป็นการตรวจเช็กระดับฮอร์โมน และการทำงานของอวัยวะในระบบสืบพันธุ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นมดลูก หรือรังไข่ โดยจะตรวจหาความถี่ และความสม่ำเสมอของรอบเดือน อาการปวดท้องขณะมีรอบเดือน และประวัติการมีเลือดออกที่ผิดปกติทางช่องคลอด หรือการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน ไปจนถึงประวัติการตั้งครรภ์ การแท้งบุตร และวิธีการคุมกำเนิดที่ใช้ในอดีต โดยจะใช้วิธีและเครื่องมือต่าง ๆ เช่น การทำอัลตราซาวนด์ การเอกซเรย์ และการส่องกล้อง

การตรวจหาภาวะมีบุตรยากสำหรับคุณผู้ชาย

  การตรวจหาภาวะมีบุตรยากในฝ่ายชาย จะเป็นการตรวจระดับฮอร์โมน คุณภาพน้ำเชื้อ และการทำงานของอวัยวะในระบบสืบพันธุ์ เช่น อัณฑะ ท่อนำอสุจิ และหลอดเลือดต่าง ๆ รวมถึงตรวจสอบประวัติการบาดเจ็บ การผ่าตัดที่อวัยวะเพศ และประวัติการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยจะใช้วิธีการเก็บตัวอย่างอสุจิ การอัลตราซาวนด์ 

 

สาเหตุของภาวะมีบุตรยาก

  1. ปัญหาเกี่ยวกับอสุจิ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณภาพของน้ำเชื้อในด้านปริมาณตัวอสุจิ การเคลื่อนไหว ความแข็งแรง และรูปร่างของอสุจิ และยังรวมถึงความผิดปกติจากอวัยวะภายในเช่น ภาวะเส้นเลือดขอดบริเวณอัณฑะ หรือท่อนำอสุจิตีบหรือตัน ซึ่งปัญหาอสุจินี้พบได้ถึง 40% ในคู่สมรสที่ต้องเผชิญกับภาวะมีบุตรยาก
  2. ปัญหาจากการตกไข่ มีหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นไข่ตกน้อย หรือไข่ตกช้า และไม่สม่ำเสมอ โดยปัญหาจากการตกไข่นั้นถือเป็น 25% ของสาเหตุที่ทำให้คู่รักมีบุตรได้ยาก
  3. ปัญหาท่อนำไข่ตีบหรือตัน ทำให้ไข่ไม่สามารถไปปฏิสนธิกับอสุจิของฝ่ายชายได้ ส่งผลให้ไม่สามารถมีบุตรด้วยวิธีธรรมชาติ
  4. ปัญหาเรื่องมดลูก และปากมดลูก เช่น เนื้องอก ติ่งเนื้อ หรือพังผืดบริเวณมดลูกและปากมดลูก รวมถึงความผิดปกติของมดลูกที่มีมาตั้งแต่กำเนิด ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้การฝังตัวของตัวอ่อนเป็นไปได้ยาก
  5. ปัญหาเยื่อบุภายในช่องท้อง เช่นการอักเสบของเยื่อบุช่องท้อง และเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ จนทำให้เกิดพังผืด ถือเป็น 35% ของสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากในผู้หญิง

  นอกจาก 5 สาเหตุหลักนี้แล้ว บางครั้งภาวะมีบุตรยากอาจตรวจไม่พบสาเหตุ ซึ่งถึงแม้จะตรวจร่างกายอย่างละเอียดแล้วก็ตาม ถือเป็น 10% ของคู่รักที่เกิดปัญหานี้เลยทีเดียว 

 

แนวทางการรักษาภาวะมีบุตรยาก

  เนื่องจากสาเหตุของภาวะมีบุตรยากนั้นมีอยู่หลายสาเหตุด้วยกัน ทำให้แนวทางการรักษาภาวะมีบุตรยากนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละคน แต่จะมีวิธีการรักษาหลัก ๆ ดังนี้

1. การใช้ยาเพื่อชักนำให้ตกไข่

  การใช้ยาในการรักษาภาวะมีบุตรยาก อาจเป็นการรักษาด้วยยากิน หรือการฉีดยาก็ได้ ซึ่งเป็นแนวทางการรักษาสำหรับคุณผู้หญิงที่มีปัญหาเรื่องการตกไข่ผิดปกติ โดยจะใช้ตัวยาที่ช่วยเร่ง หรือเสริมให้มีไข่ตกมากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์นั่นเอง 

2. การฉีดอสุจิเข้าโพรงมดลูกโดยตรง หรือ IUI

  วิธีการรักษาภาวะมีบุตรยากสำหรับคู่ที่ฝ่ายหญิงมีท่อนำไข่ปกติอย่างน้อย 1 ข้าง และฝ่ายชายมีน้ำเชื้อผิดปกติเล็กน้อย สามารถทำได้โดยการฉีดอสุจิเข้าไปบริเวณโพรงมดลูกโดยตรง หรือที่เรียกว่า IUI (Intrauterine Insemination) เพื่อให้ไข่และอสุจิทำการปฏิสนธิกันได้

3. การผ่าตัดเพื่อรักษาความผิดปกติบริเวณมดลูก

  สำหรับคุณผู้หญิงที่มีเนื้องอก ติ่งเนื้อ พังผืด หรือความผิดปกติอื่น ๆ ที่บริเวณมดลูก อาจทำให้ตัวอ่อนฝังตัวได้ยาก แต่ก็สามารถเข้ารับการผ่าตัดเพื่อรักษาความผิดปกติเหล่านี้ ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีในการรักษาภาวะมีบุตรยากได้ด้วยเช่นกัน 

4. การปฏิสนธินอกร่างกาย

  การปฏิสนธินอกร่างกาย เป็นอีกหนึ่งแนวทางการรักษาภาวะมีบุตรยากที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ให้สำเร็จได้ โดยการทำให้ไข่และอสุจิปฏิสนธิภายนอกร่างกายฝ่ายหญิง และเลี้ยงดูตัวอ่อนให้แข็งแรง ก่อนที่จะนำกลับเข้าสู่โพรงมดลูกของฝ่ายหญิง ซึ่งวิธีที่ได้รับความนิยมมากคือ  

  • การทำอิ๊กซี่ (ICSI) เป็นการคัดเลือกอสุจิมาหนึ่งตัวและฉีดเข้าไปในเซลล์ไข่โดยตรง เพื่อผสมแบบ 1 ต่อ 1 ให้เกิดการปฏิสนธิ เหมาะกับกรณีที่ฝ่ายชายมีอสุจิน้อย หรือต้องการ คัดเลือกอสุจิที่แข็งแรงและมีคุณภาพดีที่สุด

5. การใช้ไข่หรืออสุจิบริจาค

  สำหรับคู่รักที่มีภาวะมีบุตรยากเพราะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภาวะเป็นหมันแบบที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ก็มีแนวทางการรักษาภาวะมีบุตรยากได้เช่นกัน โดยจะใช้วิธีการเลือกใช้ไข่หรืออสุจิจากการบริจาคมาใช้แทน โดยอาจเลือกทำ IUI หรือเลือกวิธีการปฏิสนธินอกร่างกายก็ได้

รักษาภาวะมีบุตรยากที่ VFC Center ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร เราพร้อมดูแลคุณด้วยทีมแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ กับเครื่องมือที่ครบครัน ทันสมัย เพื่อช่วยให้คุณสามารถสร้างครอบครัวได้อย่างที่ฝันเอาไว้ 

 

VFC ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร 

Hotline: 082-903-2035

LINE Official: @vfccenter

 

บทความโดย: แพทย์ศรมน ทรงวีรธรรม

No Comments

Sorry, the comment form is closed at this time.