การมีลูกนับว่าเป็นหนึ่งในความต้องการของคู่สมรสหลาย ๆ คู่ แต่บางคู่กลับต้องเจอกับภาวะมีบุตรยาก ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายปัจจัยด้วยกัน ซึ่งหนึ่งในสาเหตุที่คู่รักหลายคู่ต้องพบเจอก็คือ การเกิดภาวะท่อนำไข่ตัน ซึ่งวันนี้เราจะพาไปรู้ถึงปัญหากันตั้งแต่เริ่มต้น พร้อมตอบคำถามว่า หากเป็นท่อนําไข่ตันจะสามารถมีลูกได้ไหม และควรมีวิธีรักษาอย่างไรเพื่อเพิ่มโอกาสให้ตั้งครรภ์ได้สำเร็จ ติดตามกันเลย
ท่อนำไข่ตัน คืออะไร?
ท่อนำไข่เป็นอวัยวะสำคัญในระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิง ที่เป็นท่อเชื่อมต่อระหว่างรังไข่กับมดลูก โดยทำหน้าที่เป็นทางผ่านให้ไข่ไปปฏิสนธิกับอสุจิ ดังนั้น หากท่อนำไข่ตัน ไข่ที่ตกออกมาจากรังไข่ จะไม่สามารถผ่านเข้าทางปลายท่อนำไข่ เพื่อไปเจอกับอสุจิ จึงไม่สามารถเกิดการปฏิสนธิเป็นตัวอ่อนขึ้นมาได้ โดยสาเหตุของการเกิดภาวะนี้ อาจเกิดได้จากปัจจัย เช่น
- การติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์ เช่น โรคหนองในเทียม โรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์
- การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน หรือปีกมดลูกอักเสบ
- การผ่าตัดในช่องท้อง เช่น การผ่าตัดไส้ติ่ง การผ่าตัดเนื้องอกมดลูก
- โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
- พังผืดในอุ้งเชิงกราน
- การทำหมัน
- เคยมีประวัติการแท้ง
- โรคทางพันธุกรรมบางชนิด
ซึ่งท่อนำไข่ตัน เป็นภาวะที่ส่งผลต่อการมีบุตรยาก การรู้เท่าทันสาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา จะช่วยให้คู่รักที่เผชิญกับภาวะนี้สามารถตัดสินใจเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมและเพิ่มโอกาสในการมีบุตรได้
รู้ได้อย่างไรว่าเป็นท่อนำไข่ตัน?
ภาวะท่อนำไข่ตันอาจไม่แสดงอาการออกมามากนัก โดยอาการเบื้องต้นของภาวะท่อนำไข่ตันอาจมีเพียงแค่อาการปวดท้องน้อย หรือส่วนใหญ่ไม่มีอาการเลย โดยแพทย์อาจจะทำการตรวจสอบด้วยวิธีการเหล่านี้
การซักประวัติ
เริ่มจากแพทย์จะทำการซักประวัติอย่างละเอียดเกี่ยวกับประวัติการติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์ ประวัติการผ่าตัด ประวัติการทำแท้ง ประวัติการใช้ยา รวมถึงอาการที่แสดง พร้อมทั้งตรวจอัลตราซาวนด์ซึ่งอาจจะเห็นท่อนำไข่ตันได้ในกรณีที่มีน้ำขังอยู่ในท่อนำไข่ เพื่อตรวจสอบอย่างละเอียดและพิจารณาหาข้อสรุป
การฉีดสีเพื่อดูท่อนำไข่ หรือ Hysterosalpingography (HSG)
การฉีดสีเพื่อดูท่อนำไข่ หรือ Hysterosalpingography (HSG) เป็นการตรวจโพรงมดลูกและปีกมดลูกโดยใช้รังสีเอกซ์และสารทึบแสงฉีดเข้าไปในโพรงมดลูก เพื่อดูว่าสารทึบแสงสามารถไหลผ่านท่อนำไข่ได้หรือไม่ โดยจะทำการตรวจในช่วงหลังหมดประจำเดือน ก่อนถึงวันไข่ตก โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยขึ้นขาหยั่งและสอดเครื่องมือเพื่อเปิดช่องคลอด จากนั้นทายาทำความสะอาดบริเวณปากมดลูก ก่อนจะสอดท่อเล็ก ๆ ผ่านปากมดลูกเข้าไปในโพรงมดลูกเพื่อฉีดสารทึบแสงเข้าไป จากนั้นทำการถ่ายภาพรังสีเอกซ์ เพื่อดูการไหลของสารทึบแสง หากท่อนำไข่อุดตัน สารทึบแสงจะไม่สามารถไหลผ่านท่อนำไข่ไปยังรังไข่ได้
หากเป็นท่อนำไข่ตันจะสามารถรักษาให้มีลูกได้ไหม?
ถึงแม้ว่าภาวะท่อนำไข่ตันจะส่งผลต่อการมีลูก แต่ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน ก็สามารถช่วยรักษาให้มีโอกาสตั้งครรภ์ได้ ด้วยวิธีดังนี้
การผ่าตัดท่อนำไข่ผ่านการส่องกล้อง
เป็นการผ่าตัดแบบ Minimally Invasive หรือการผ่าตัดแผลเล็กที่ไม่ต้องเสียเวลาพักฟื้นนาน โดยแพทย์ทำการผ่าตัดท่อนำไข่ เพื่อเอาพังผืดออก หรือทำการเปิดท่อนำไข่ ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจได้รับการพิจารณาให้ทำร่วมกับการรักษากระตุ้นให้ไข่ตก เหมาะสำหรับผู้ที่มีท่อนำไข่ตันเพียงเล็กน้อย
การทําอิ๊กซี่
สำหรับผู้ที่มีภาวะท่อนำไข่ตันรุนแรง อาจต้องใช้รักษาด้วยการใช้เทคโนโลยีที่ช่วยในการเจริญพันธุ์ อย่างการทำเด็กหลอดแก้ว หรือ ICSI (Intracytoplasmic Sperm Injection) โดยแพทย์จะคัดอสุจิที่แข็งแรงมากที่สุด มาเจาะและฉีดเข้าไปในเนื้อไข่ที่มีความสมบูรณ์ที่สุดของฝ่ายหญิงโดยตรง จากนั้นสังเกตการณ์จนไข่และอสุจิเกิดการปฏิสนธิกันจนกลายเป็นตัวอ่อน จากนั้นจึงจะนำกลับเข้าไปในมดลูกอีกครั้งเพื่อให้เกิดกระบวนการตั้งครรภ์ต่อไป ซึ่งการทำอิ๊กซี่นี้ยังสามารถใช้รักษาภาวะมีบุตรยากจากสาเหตุอื่น ๆ ได้อีกด้วย
หากกังวลกับภาวะท่อนําไข่ตัน ว่าจะทำให้มีลูกได้ไหม? หรือกำลังเจอกับภาวะมีบุตรยาก สามารถเข้ามารับคำแนะนำการทำอิ๊กซี่ ที่ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร ที่ให้บริการครอบคลุม ทั้งให้คำปรึกษา ตรวจวินิจฉัยและให้การรักษา ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย ห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานระดับสากล เพื่อเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ให้ประสบความสำเร็จ พร้อมสร้างครอบครัวที่สมบูรณ์แบบได้อย่างที่ตั้งใจ!
บทความโดย แพทย์ วรวัฒน์ ศิริปุณย์
ติดต่อสอบถามหรือนัดหมายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่
VFC ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร
Hotline : 082-903-2035
Line : @vfccenter
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสูติ-นรีเวชวิทยาและเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
No Comments
Sorry, the comment form is closed at this time.