การมีเจ้าตัวเล็กเข้ามาเติมเต็มครอบครัว ถือเป็นความฝันของคู่สามีภรรยา แต่หลายครั้งที่ต้องเผชิญกับความผิดหวังเพราะภาวะการมีลูกยาก ไม่ว่าจะพยายามอย่างไรก็ไม่ประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์สักที ซึ่งภาวะมีลูกยากอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น ปัญหาสุขภาพ ความเครียด วิถีชีวิต ด้วยเหตุนี้ จึงได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีการทำเด็กหลอดแก้ว เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ให้แก่คู่แต่งงาน
สำหรับการทำเด็กหลอดแก้วนั้น สามารถทำได้หลายวิธี แต่การจะเลือกใช้วิธีไหนก็ขึ้นอยู่กับสาเหตุของภาวะมีลูกยากและสภาพร่างกายของว่าที่คุณพ่อคุณแม่แต่ละคน แต่หากพูดถึงการทำเด็กหลอดแก้ว การรักษาด้วยวิธี IVF และ ICSI นับว่าได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน แต่ทั้งสองวิธีก็มีกระบวนการที่แตกต่างกัน มาทำความรู้จักกับขั้นตอนการทำ ICSI และ IVF เพื่อช่วยให้ว่าที่คุณพ่อคุณแม่เข้าใจถึงโอกาสในการตั้งครรภ์ได้มากยิ่งขึ้น
วิธีการทำเด็กหลอดแก้วที่ควรรู้
การรักษาภาวะมีลูกยากด้วยการทำเด็กหลอดแก้วสามารถทำได้ 2 วิธี คือ IVF และ ICSI ซึ่งแต่ละวิธีมีรายละเอียด ดังนี้
- การทำ IVF (In-Vitro Fertilization) เป็นการนำไข่ที่สมบูรณ์ดีจากฝ่ายหญิงมาผสมกับอสุจิที่แข็งแรงจากฝ่ายชายภายนอกร่างกาย โดยให้อสุจิเจาะเข้าไปในฟองไข่ด้วยตัวเอง แล้วฉีดตัวอ่อนที่เกิดจากการผสมกลับเข้าไปในโพรงมดลูกอีกครั้งเพื่อให้การตั้งครรภ์สมบูรณ์
- การทำ ICSI (Intracytoplasmic Sperm Injection) เป็นการคัดไข่ที่สุขภาพสมบูรณ์จากฝ่ายหญิงและอสุจิที่สมบูรณ์แข็งแรงที่สุด มาส่องกล้องจุลทรรศน์ แล้วผสมกันด้วยการใช้เข็มขนาดเล็ก ฉีดอสุจิเข้าไปในฟองไข่โดยตรง จากนั้นนำไปเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ รอจนถึงระยะที่เหมาะสมแล้วจึงฉีดเข้าไปในโพรงมดลูกเพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์
IVF กับ ICSI ต่างกันอย่างไร ?
หากมองผิวเผินการทำ IVF และ ICSI ดูมีความคล้ายกัน เนื่องจากเป็นการปฏิสนธินอกร่างกายเหมือนกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทั้ง 2 วิธีมีความแตกต่างกันอยู่หลายประการ หลัก ๆ คือการทำ ICSI จะเป็นการทำให้เกิดการปฏิสนธิแบบเฉพาะเจาะจง แต่การทำ IVF จะเป็นการปล่อยให้อสุจิผสมกับไข่เอง การทำ ICSI สามารถแก้ปัญหาภาวะมีลูกยากได้แม้ฝ่ายชายจะมีอสุจิน้อย อสุจิพิการ หรือไม่มีอสุจิเลย ซึ่งอัตราการประสบความสำเร็จของการทำ ICSI อยู่ที่ราว 50% – 80%
เจาะลึกขั้นตอนการทำ ICSI
สำหรับขั้นตอนการทำ ICSI มีดังต่อไปนี้
ขั้นตอนที่ 1 ตรวจและกระตุ้นไข่
ขั้นตอนแรกเป็นการตรวจสภาพร่างกายก่อนเริ่มกระบวนการ ICSI เพื่อประเมินการทำงานของรังไข่และนับจำนวนไข่ในแต่ละรอบเดือนด้วยการอัลตราซาวนด์ จากนั้นจึงวิเคราะห์ผลตรวจร่วมกับปริมาณฮอร์โมนและสุขภาพของฝ่ายหญิงเพื่อวางแผนฉีดยากระตุ้นไข่
ขั้นตอนที่ 2 เก็บไข่
ในขั้นตอนนี้ทีมแพทย์จะทำการเก็บไข่ผ่านทางช่องคลอดด้วยเข็มขนาดเล็กติดหัวอัลตราซาวนด์แล้วดูดไข่ออกมา เตรียมพร้อมสำหรับการปฏิสนธิ
ขั้นตอนที่ 3 ทำ ICSI
ขั้นตอนนี้ฝ่ายชายจะต้องทำการเก็บอสุจิด้วยวิธีธรรมชาติหรือหากมีปัญหาด้านสมรรถภาพ แพทย์จะเก็บโดยวิธีการใช้เข็มดูดน้ำเชื้อจากอัณฑะโดยตรง แล้วคัดกรองอสุจิที่แข็งแรงที่สุดมาผสมกับไข่ซึ่งมีความสมบูรณ์ที่สุด ด้วยการใช้เข็มขนาดเล็กฉีดเข้าไปในไข่โดยตรงเพื่อให้ปฏิสนธิจนเกิดเป็นตัวอ่อน
ขั้นตอนที่ 4 เพาะเลี้ยงตัวอ่อน
ทางการแพทย์จะนับวันที่ทำ ICSI เป็นวันที่ 0 และนับวันต่อมาเป็นวันที่ 1 ซึ่งจะเป็นวันที่รู้ว่าได้ตัวอ่อนกี่ตัว แล้วจึงนำตัวอ่อนไปเพาะเลี้ยงในอุณหภูมิที่เหมาะสมเพื่อให้กระบวนการแบ่งเซลล์สมบูรณ์ ระยะเวลาในการเพาะเลี้ยงจะขึ้นอยู่กับคุณภาพของตัวอ่อน แต่ต้องใช้เวลา 5-6 วันหรือในทางการแพทย์เรียกว่าระยะ Blastocyst
ขั้นตอนที่ 5 แช่แข็งตัวอ่อน
กระบวนการนี้จะเกิดขึ้นควบคู่ไปกับการเตรียมพร้อมของว่าที่คุณแม่ เป็นการนำตัวอ่อนในระยะ Blastocyst เข้าสู่กระบวนการแช่แข็งเพื่อรอผลตรวจโครโมโซมตัวอ่อน และปรับรอบประจำเดือนเพื่อเตรียมความพร้อมของผนังมดลูก
ขั้นตอนที่ 6 ย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูก
ขั้นตอนการทำ ICSI ขั้นสุดท้าย แพทย์จะนำตัวอ่อนที่แช่แข็งไว้มาละลาย แล้วใช้สายนำตัวอ่อนสอดเข้าไปทางช่องคลอด ผ่านปากมดลูกแล้วฝังในตำแหน่งที่เหมาะสมที่สุด โดยดูจากการอัลตราซาวนด์ประกอบ ซึ่งฝ่ายหญิงควรทำใจให้สบายที่สุด ไม่เกร็ง ไม่เครียดเกินไป เพื่อเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์
สำหรับคู่แต่งงานที่มีภาวะมีบุตรยาก สามารถเพิ่มโอกาสในการมีบุตรด้วยการทำเด็กหลอดแก้วที่ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตรยาก VFC โดยโรงพยาบาลเวชธานี มั่นใจในความปลอดภัยทุกขั้นตอนด้วยคำแนะนำและการดูแลอย่างใกล้ชิดจากทีมสูตินรีแพทย์ พร้อมเครื่องมือและนวัตกรรมที่ได้มาตรฐาน
บทความโดย แพทย์ศรมน ทรงวีรธรรม
ติดต่อสอบถามหรือนัดหมายแพทย์ได้ที่
VFC ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร
Hotline : 082-903-2035
Line : @vfccenter
อ่านบทความสุขภาพ : https://www.v-ivf.com/article/
ข้อมูลอ้างอิง:
ทีมแพทย์ผู้ชำนาญการด้านสูตินรีเวชวิทยาและเวชศาตร์การเจริญพันธ์ุ
No Comments
Sorry, the comment form is closed at this time.