
การวางแผนตั้งครรภ์อย่างรอบคอบ ไม่ได้มีแค่การดูแลเรื่องอาหารการกินหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตเท่านั้น แต่ “การฉีดวัคซีน” เป็นอีกหนึ่งขั้นตอนสำคัญที่ช่วยเสริมเกราะป้องกันให้คุณแม่และลูกน้อยห่างไกลจากโรคร้าย อีกทั้งวัคซีนบางชนิดยังสามารถป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรงในระหว่างการตั้งครรภ์ รวมถึงลดความเสี่ยงที่ทารกจะมีความผิดปกติแต่กำเนิดได้อีกด้วย การเตรียมความพร้อมด้วยการฉีดวัคซีนก่อนหรือระหว่างตั้งครรภ์ จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยส่งต่อสุขภาพดีจากแม่สู่ลูก
วัคซีนที่ควรฉีดก่อนตั้งครรภ์
ก่อนท้องต้องฉีดวัคซีนอะไรบ้าง ?
ถือเป็นคำถามยอดนิยมที่คู่สามีภรรยาส่วนใหญ่สงสัย เพราะการเตรียมร่างกายให้สมบูรณ์ แข็งแรง ห่างไกลจากโรคต่าง ๆ คือหัวใจสำคัญในการเตรียมพร้อมก่อนการตั้งครรภ์ อีกทั้งคุณแม่ที่มีสุขภาพแข็งแรง ย่อมมีโอกาสให้กำเนิดทารกที่สมบูรณ์ตามไปด้วย ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ ดังนั้น ก่อนตั้งครรภ์ ฝ่ายหญิงควรฉีดวัคซีนเหล่านี้ให้ครบ เพื่อความปลอดภัยของตนเองและลูกน้อยที่กำลังจะเกิดมา
1. วัคซีนป้องกันหัด คางทูม หัดเยอรมัน
เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าวัคซีน MMR ฉีดเพียง 1 เข็ม แต่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสได้ถึง 3 ชนิด ได้แก่ หัด (Measles), คางทูม (Mumps) และหัดเยอรมัน (Rubella) ซึ่งการติดเชื้อหัดเยอรมันในหญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในไตรมาสแรก มีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้ทารกเกิดภาวะพิการแต่กำเนิด เช่น ความผิดปกติของหัวใจ สมอง ตา และหู รวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงการเกิดภาวะแท้ง จึงควรได้รับวัคซีนชนิดนี้ก่อนตั้งครรภ์อย่างน้อย 3 เดือน
2. วัคซีนโรคอีสุกอีใส
วัคซีนโรคอีสุกอีใสต้องฉีด 2 เข็มและฉีดห่างกัน 1 เดือน ถือเป็นอีกหนึ่งวัคซีนที่สำคัญสำหรับผู้ที่เตรียมตัวตั้งครรภ์ เพราะการติดเชื้ออีสุกอีใสระหว่างตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกและไตรมาสสุดท้าย มีความเสี่ยงทำให้ทารกเกิดกลุ่มอาการ Congenital Varicella Syndrome ซึ่งอาจก่อให้เกิดความพิการ เช่น แขนขาหดสั้น ผิวหนังเป็นแผลผิดปกติ จอประสาทตาอักเสบ ตาบอดสี และปัญหาพัฒนาการทางสมอง หรือหากติดเชื้อตอนใกล้คลอด อาจทำให้ทารกเกิดมาพร้อมโรคอีสุกอีใสชนิดรุนแรงได้
3. วัคซีนโรคมะเร็งปากมดลูก (HPV)
วัคซีน HPV ช่วยป้องกันการติดเชื้อ Human Papillomavirus ซึ่งมีอยู่กว่า 100 สายพันธุ์ เป็นสาเหตุหลักของมะเร็งปากมดลูก รวมถึงมะเร็งที่อวัยวะสืบพันธุ์อื่น ๆ และหูดหงอนไก่ โดยการฉีดให้ครบโดสจะอยู่ที่ 3 เข็ม ซึ่งควรต้องฉีดให้ครบ 3 เข็มก่อนตั้งครรภ์ เพราะหากตั้งครรภ์ระหว่างกระบวนการฉีด จะต้องหยุดวัคซีนไว้จนกว่าจะคลอด และหากตรวจพบมะเร็งปากมดลูกระหว่างตั้งครรภ์ จะไม่สามารถรับการรักษาด้วยการฉายแสงได้ เพราะมีความเสี่ยงต่อทั้งแม่และลูก
4. วัคซีนไวรัสตับอักเสบ A และ B
ไวรัสตับอักเสบ A ติดต่อผ่านทางอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อน หากติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์อาจเสี่ยงทำให้เกิดภาวะตับอักเสบเฉียบพลันและมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ส่วนไวรัสตับอักเสบ B สามารถติดต่อได้ทางเลือด การมีเพศสัมพันธ์ และจากแม่สู่ลูก หากแม่มีเชื้อโดยไม่รู้ตัว ทารกมีโอกาสสูงเป็นพาหะเรื้อรัง เสี่ยงตับแข็งและมะเร็งตับในอนาคต
แม้ว่าวัคซีนไวรัสตับอักเสบทั้ง 2 ชนิดจะเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย สามารถฉีดก่อนหรือระหว่างตั้งครรภ์ได้หากจำเป็น แต่เพื่อความสะดวกและปลอดภัยสูงสุด ควรฉีดก่อนตั้งครรภ์ เพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่พร้อมสมบูรณ์ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์
การฉีดวัคซีนก่อนตั้งครรภ์เหล่านี้ นอกจากจะช่วยป้องกันการติดเชื้อแล้ว อีกหนึ่งเหตุผลหลักที่ต้องฉีดวัคซีนให้ครบก็เป็นเพราะว่า วัคซีนบางชนิดเป็นเชื้อเป็น ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกในครรภ์ได้ จึงควรฉีดให้ครบถ้วน และควรหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการตั้งครรภ์ในช่วง 1-3 เดือนหลังการฉีดวัคซีนด้วย
วัคซีนที่ควรฉีดระหว่างตั้งครรภ์
หลังจากเตรียมตัวด้วยการฉีดวัคซีนก่อนตั้งครรภ์ให้ครบถ้วนแล้ว การฉีดวัคซีนระหว่างตั้งครรภ์ก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน โดยวัคซีนที่ควรฉีดระหว่างตั้งครรภ์ ประกอบด้วยวัคซีน 4 ชนิดได้แก่
1. วัคซีนไข้หวัดใหญ่
สำหรับผู้ที่สงสัยว่าคนท้องควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ไหม คำตอบคือควรฉีด เพราะวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย สามารถฉีดในคนท้องได้ อีกทั้งยังช่วยป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ ภาวะระบบหายใจล้มเหลว และการคลอดก่อนกำหนด รวมถึงยังช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ทารกในช่วง 6 เดือนแรกหลังคลอดด้วย
2. วัคซีน COVID-19
วัคซีน COVID-19 เป็นอีกหนึ่งวัคซีนที่แนะนำให้ฉีดระหว่างตั้งครรภ์ เนื่องจากหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ COVID-19 มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อการเจ็บป่วยรุนแรง โดยเฉพาะภาวะปอดอักเสบ สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป
3. วัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก (Tdap)
วัคซีนไอกรน คอตีบ บาดทะยัก แนะนำให้คนท้องฉีดในช่วงอายุครรภ์สัปดาห์ที่ 27–36 เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายแม่สร้างแอนติบอดีป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน และบาดทะยัก แล้วถ่ายทอดภูมิคุ้มกันนี้สู่ทารกผ่านทางรก โดยเฉพาะโรคไอกรนที่เป็นอันตรายมากในเด็กแรกเกิด เพราะทารกยังไม่มีภูมิคุ้มกัน และอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดบวม สมองบวม หรือเสียชีวิตได้
4. วัคซีนโรค RSV
สุดท้าย คือวัคซีน RSV ซึ่งควรฉีดในช่วงอายุครรภ์สัปดาห์ที่ 28–36 โดยเฉพาะในช่วงฤดูระบาดของโรค RSV เพื่อช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัส RSV ในทารกหลังคลอด ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคปอดอักเสบและหลอดลมอักเสบรุนแรงในทารกแรกเกิดและเด็กเล็ก
ข้อควรรู้เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนในหญิงตั้งครรภ์
แม้ว่าการฉีดวัคซีนก่อนและระหว่างตั้งครรภ์จะมีความสำคัญในการป้องกันโรคที่ส่งผลกระทบต่อทั้งแม่และทารก แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อควรรู้เพิ่มเติมที่คู่สมรสควรพิจารณาเพื่อให้การฉีดวัคซีนปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ดังนี้
1. ห้ามใช้วัคซีนชนิดเชื้อเป็นกับหญิงตั้งครรภ์
วัคซีนชนิดเชื้อเป็น หมายถึง วัคซีนที่นำเชื้อที่อ่อนแอแล้ว มาผ่านกระบวนการเพื่อให้สามารถฉีดเข้าสู่ร่างกายได้อย่างปลอดภัย แต่ก็ไม่ควรนำมาใช้กับหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากอาจเกิดผลข้างเคียงต่อทารกหรือทำให้ทารกเกิดการติดเชื้อได้
2. ควรฉีดวัคซีนให้ตรงตามไตรมาสการตั้งครรภ์
วัคซีนแต่ละชนิดมีช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการฉีด เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการป้องกันโรคและถ่ายทอดภูมิคุ้มกันจากแม่สู่ลูกได้ตามวัตถุประสงค์ในการฉีด จึงควรวางแผนฉีดวัคซีนตามช่วงอายุครรภ์ที่เหมาะสมร่วมกับแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยของทั้งแม่และทารกในครรภ์
3. ก่อนฉีดวัคซีน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง
การฉีดวัคซีนก่อนและระหว่างตั้งครรภ์ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เพื่อประเมินประวัติสุขภาพ ประวัติการฉีดวัคซีนในอดีต และความเสี่ยงส่วนบุคคล เช่น โรคประจำตัว หรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ทำให้คุณแม่มั่นใจได้ว่า จะได้รับการป้องกันโรคอย่างปลอดภัยและเหมาะสมสำหรับตัวเองและลูกน้อยในครรภ์
4. ทำความเข้าใจกับผลข้างเคียงหลังการฉีดวัคซีน
การฉีดวัคซีนคือการฉีดเชื้อโรคเข้าไปในร่างกาย เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาป้องกันเชื้อโรคชนิดนั้น ๆ จึงอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงบางประการ เช่น อาการปวดบริเวณที่ฉีด บวมแดง อ่อนเพลีย หรือมีไข้เล็กน้อย ซึ่งจะหายไปเองได้ในเวลาไม่นาน แต่หากมีอาการผิดปกติรุนแรง เช่น หายใจลำบาก หอบเหนื่อย ลมพิษขึ้น ควรมาพบแพทย์โดยด่วน เพราะอาจเป็นอาการของการแพ้วัคซีนได้
หากคุณกำลังวางแผนตั้งครรภ์ด้วยตัวเองแต่พบว่าใช้เวลานานเกินคาด หรือเริ่มสงสัยว่าอาจมีภาวะมีบุตรยาก อย่ารอให้เวลาล่วงเลย สามารถมาปรึกษากับสูตินรีแพทย์ถึงสาเหตุของปัญหาและขั้นตอนการทำ IUI เพื่อรักษาภาวะมีบุตรยากได้ที่ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร (V Fertility Center) ศูนย์รักษาภาวะมีบุตรยากที่พร้อมดูแลคุณด้วยเทคโนโลยีทางเลือกที่เหมาะสม เพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จในการมีบุตรอย่างปลอดภัย ให้คำแนะนำและการรักษาโดยสูตินรีแพทย์ประสบการณ์สูง
บทความโดย แพทย์หญิงศรมน ทรงวีรธรรม
ติดต่อสอบถามหรือนัดหมายแพทย์ ได้ที่
VFC ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร
Hotline: 082-903-2035
LINE Official: @vfccenter

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสูติ-นรีเวชวิทยาและเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
No Comments
Sorry, the comment form is closed at this time.