เปิดทุกวัน 8:00 น. - 17.00 น

เวลาทำการ

Follow Us

วางแผนมีบุตร อย่าละเลยการตรวจอสุจิ เพื่อประเมินคุณภาพ

การตรวจสเปิร์ม เพื่อนำมาวิเคราะห์ถึงภาวะเจริญพันธุ์

ปัญหาการมีบุตรยาก สาเหตุของปัญหาสามารถเกิดได้ทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย โดยในกรณีของฝ่ายชาย หนึ่งในการตรวจเพื่อให้รู้ถึงสาเหตุที่ชัดเจนคือ การตรวจวิเคราะห์น้ำอสุจิ หรือที่หลายคนเรียกว่าการตรวจสเปิร์ม เพื่อประเมินคุณภาพและปริมาณของอสุจิ ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการตั้งครรภ์และการเจริญพันธุ์

การตรวจวิเคราะห์น้ำอสุจิคืออะไร?

การตรวจวิเคราะห์น้ำอสุจิ (Semen Analysis) เป็นการตรวจสเปิร์มในห้องปฏิบัติการเพื่อประเมินคุณสมบัติของน้ำอสุจิที่ได้จากการหลั่ง ซึ่งจะตรวจสอบในหลายปัจจัย เช่น ปริมาณ ความหนืด การเคลื่อนไหวของตัวอสุจิ รูปร่างของอสุจิ และค่า pH เพื่อให้ทราบถึงภาวะเจริญพันธุ์ว่าอยู่ในระดับปกติหรือไม่ โดยผลตรวจสามารถใช้วางแผนการรักษาภาวะมีบุตรยากได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ

ขั้นตอนการตรวจวิเคราะห์น้ำอสุจิ

1. การเตรียมตัวก่อนตรวจ

การเตรียมตัวก่อนการตรวจอสุจิคือขั้นตอนแรก เพื่อให้ได้ผลการตรวจที่แม่นยำและเป็นประโยชน์ที่สุด ซึ่งการเตรียมตัวที่สำคัญที่สุดคือการหลีกเลี่ยงการหลั่งน้ำอสุจิในระยะเวลาอย่างน้อย 2-3 วัน ก่อนการเก็บตัวอย่าง แต่ไม่ควรเกิน 7 วัน เพื่อให้ปริมาณน้ำอสุจิที่เก็บได้มีความเข้มข้นสูง ซึ่งจะทำให้การตรวจคัดกรองน้ำอสุจิมีความแม่นยำมากขึ้น

2. การเก็บตัวอย่าง

การเก็บตัวอย่างน้ำอสุจิมักทำในห้องปฏิบัติการที่มีความเป็นส่วนตัวและเหมาะสมสำหรับการเก็บตัวอย่างในสภาวะแวดล้อมที่ควบคุมได้ เพื่อให้ได้ผลการตรวจที่ถูกต้องและแม่นยำ ซึ่งหากฝ่ายชายไม่สามารถเก็บอสุจิได้ด้วยวิธีธรรมชาติ แพทย์จะพิจารณาการเก็บอสุจิจากลูกอัณฑะด้วยการผ่าตัด (Surgical Sperm Retrieval : SSR) ซึ่งเป็นการใช้เข็มดูดที่บริเวณท่อนำอสุจิส่วนต้นหรืออัณฑะ โดยอาจมีการเปิดแผลขนาดเล็ก ร่วมกับการใช้กล้องจุลทรรศน์ซึ่งแล้วแต่กรณี

3. การวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ

หลังจากเก็บตัวอย่างน้ำอสุจิแล้ว ตัวอย่างจะถูกส่งไปยังห้องปฏิบัติการที่มีเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ทันสมัยในการตรวจวิเคราะห์ เพื่อประเมินคุณภาพของน้ำอสุจิและวินิจฉัยภาวะการมีบุตรยากในผู้ชาย

การแปลผลการตรวจอสุจิ

การแปลผลจากการตรวจอสุจิ มีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยและแนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะสม โดยจะพิจารณาจากหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อการปฏิสนธิและความสามารถในการตั้งครรภ์ ดังนี้

  • ปริมาณน้ำอสุจิ (Volume): เป็นการประเมินปริมาณของน้ำอสุจิที่หลั่งออกมา โดยปริมาณอสุจิปกติที่เหมาะสม คือประมาณ 1.5 มิลลิลิตรขึ้นไป
  • ความเข้มข้นของอสุจิ (Concentration): เป็นการตรวจวัดจำนวนตัวอสุจิที่มีอยู่ในน้ำอสุจิ ซึ่งควรมีอัตราที่ไม่น้อยกว่า 15 ล้านตัวอสุจิต่อมิลลิลิตร
  • การเคลื่อนไหวของอสุจิ (Motility): อสุจิที่เคลื่อนไหวได้ดีจะสามารถเข้าไปถึงไข่และปฏิสนธิได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งต้องการตัวอสุจิที่เคลื่อนไหวได้ดีอย่างน้อย 40% ของทั้งหมด
  • รูปร่างปกติ (Morphology): อสุจิที่มีรูปร่างสมบูรณ์ ควรมีส่วนหัวที่แข็งแรงและส่วนหางที่ยาว ซึ่งจะช่วยให้สามารถเคลื่อนไหวได้ดีขึ้นและเพิ่มโอกาสในการปฏิสนธิ ซึ่งต้องมีมากกว่า 4% ของจำนวนอสุจิทั้งหม
  • ความเป็นกรด-ด่าง (pH): ค่า pH ที่เหมาะสมของน้ำอสุจิควรอยู่ในช่วงประมาณ 7.2–8.0 ค่า pH ที่ต่ำ หรือสูงเกินไปอาจส่งผลให้สภาพแวดล้อมของน้ำอสุจิไม่เหมาะสมในการปฏิสนธิและอาจทำให้การเคลื่อนไหวของอสุจิลดลง หรือทำให้ไข่ไม่สามารถปฏิสนธิกับอสุจิได้

แพทย์กำลังตรวจดูว่าปริมาณอสุจิปกติไหม

ปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพของอสุจิ

การที่อสุจิจะมีคุณภาพดีหรือไม่ ยังขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยปัจจัยที่ส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพของอสุจิมีดังนี้ 

1. สุขภาพร่างกายโดยรวม

ความแข็งแรงของร่างกาย มีผลต่อคุณภาพของอสุจิ หากร่างกายแข็งแรง ระบบการผลิตอสุจิจะทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและการรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมเป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มคุณภาพของอสุจิได้อย่างมาก

2. พฤติกรรมการใช้ชีวิต

พฤติกรรมการใช้ชีวิตมีผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพอสุจิ ซึ่งบางพฤติกรรมอาจส่งผลเสียต่อการผลิตอสุจิและลดโอกาสในการตั้งครรภ์ได้ เช่น

  • การสูบบุหรี่: การสูบบุหรี่ส่งผลเสียต่อคุณภาพของอสุจิโดยตรง เพราะสารนิโคตินในบุหรี่จะทำลายเซลล์อสุจิและลดความสามารถในการเคลื่อนไหวของอสุจิ ส่งผลให้โอกาสในการปฏิสนธิลดลง
  • การดื่มแอลกอฮอล์: การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากอาจทำให้ระดับฮอร์โมนไม่สมดุลและส่งผลกระทบต่อการผลิตอสุจิ นอกจากนี้ ยังทำให้การเคลื่อนไหวของอสุจิลดลงด้วย 

3. การรับประทานอาหาร

การรับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนและเหมาะสม สามารถช่วยบำรุงระบบการเจริญพันธุ์และเพิ่มคุณภาพของอสุจิได้ โดยอาหารที่มีวิตามินและแร่ธาตุสำคัญจะช่วยส่งเสริมการผลิตอสุจิให้มีคุณภาพดี

  • วิตามิน C: ช่วยป้องกันความเสียหายจากอนุมูลอิสระที่อาจทำลายเซลล์อสุจิและเพิ่มจำนวนอสุจิให้แข็งแรง
  • สังกะสี: เป็นแร่ธาตุที่สำคัญในการเสริมสร้างคุณภาพอสุจิ ช่วยเพิ่มความแข็งแรงและการเคลื่อนไหวของอสุจิ
  • โฟเลต: ช่วยในการสร้างและพัฒนาสารพันธุกรรมในอสุจิ ส่งผลให้การปฏิสนธิมีโอกาสสูงขึ้น
  • กรดไขมันโอเมก้า-3: ช่วยในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันและปรับสมดุลฮอร์โมนในร่างกาย รวมถึงส่งเสริมการผลิตอสุจิที่แข็งแรง

4. สิ่งแวดล้อม

การสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพของอสุจิ เช่น การทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีความร้อนสูง ซึ่งอาจทำลายความสมบูรณ์ของอสุจิ หรือการสัมผัสกับสารเคมีที่เป็นพิษ ซึ่งอาจส่งผลให้คุณภาพของอสุจิและความสามารถในการปฏิสนธิลดลง

5. อายุ

อายุเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อคุณภาพของอสุจิ โดยเฉพาะเมื่ออายุมากขึ้น คุณภาพของอสุจิอาจลดลง ทำให้มีอัตราการปฏิสนธิต่ำลง อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีลูกที่มีภาวะผิดปกติทางพันธุกรรม 

การตรวจสเปิร์มเพื่อวิเคราะห์น้ำอสุจิเป็นการตรวจประเมินคุณภาพของอสุจิ เพื่อช่วยวินิจฉัยภาวะมีบุตรยากในผู้ชาย โดยหากพบความผิดปกติ แพทย์จะสามารถแนะนำแนวทางรักษาที่เหมาะสมต่อไปได้ หากกำลังวางแผนมีบุตร การเข้ารับการตรวจอสุจิอย่างละเอียดตั้งแต่เนิ่น ๆ คือก้าวแรกที่ช่วยให้ความฝันในการมีบุตรเป็นจริงได้เร็วขึ้น 

สำหรับคุณผู้ชายที่อยู่ในภาวะเป็นหมัน หลั่งน้ำอสุจิน้อย และกำลังวางแผนมีบุตร สามารถเข้ารับคำปรึกษาในการเก็บเชื้ออสุจิในราคาที่เข้าถึงได้ที่ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร (V Fertility Center) เราให้การดูแลด้วยเทคโนโลยีทางเลือกที่เหมาะสม ครอบคลุมทุกความต้องการของคู่สมรสที่กำลังประสบกับภาวะมีบุตรยาก พร้อมดูแลระบบสืบพันธุ์ เพื่อเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จในการมีบุตร 

 

บทความโดย แพทย์หญิงศรมน ทรงวีรธรรม

ติดต่อสอบถามหรือนัดหมายแพทย์ ได้ที่ 

VFC ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร 

Hotline: 082-903-2035 

LINE Official: @vfccenter

No Comments

Sorry, the comment form is closed at this time.