เปิดทุกวัน 8:00 น. - 17.00 น

เวลาทำการ

Follow Us

เปิดสาเหตุที่ทำให้ IUI ไม่ติด และเทคนิคเพิ่มโอกาสความสำเร็จ

คู่สามีภรรยารู้สึกเศร้าเพราะทำ IUI ไม่ติด

สำหรับคู่รักที่กำลังเผชิญกับภาวะมีบุตรยาก การมองหาวิธีในการเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งหนึ่งในวิธีที่ได้รับความนิยม ได้แก่ การทำ IUI ซึ่งเป็นวิธีที่ใกล้เคียงกับการตั้งครรภ์ธรรมชาติ มีค่าใช้จ่ายต่ำเมื่อเทียบกับวิธีอื่น แต่อัตราความสำเร็จก็ต่ำกว่าวิธีอื่นด้วยเช่นเดียวกัน เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่ส่งผลให้การทำ IUI ไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่คาดหวัง ดังนั้น การศึกษาและทำความเข้าใจสาเหตุที่ทำ IUI ไม่ติด จะช่วยให้สามารถหาแนวทางเพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้มากขึ้น

สาเหตุที่ทำให้ IUI ไม่ติดเกิดจากอะไร ?

การทำ IUI ไม่สำเร็จสามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย แต่โดยหลัก ๆ แล้วจะแบ่งเป็น 3 สาเหตุหลัก ดังนี้ 

1. ปัจจัยจากฝ่ายหญิง

สาเหตุแรกที่ทำให้การทำ IUI ไม่ติด มักเกิดจากร่างกายของฝ่ายหญิงเอง ไม่ว่าจะเป็นอายุ ฮอร์โมน หรือความผิดปกติของอวัยวะสืบพันธุ์ ดังต่อไปนี้ 

  • อายุ ส่งผลต่อคุณภาพของไข่โดยตรง ซึ่งผู้หญิงที่อายุ 35 ปีขึ้นไปจะมีโอกาสตั้งครรภ์น้อยลงกว่าผู้หญิงที่อายุต่ำกว่า 35 ปี 
  • ภาวะไข่ไม่ตก หรือฮอร์โมนผิดปกติ การที่ฝ่ายหญิงมีไข่ตกไม่สม่ำเสมอ กลุ่มอาการถุงน้ำหลายใบในรังไข่ (PCOS)  หรือว่ามีปัญหาเรื่องฮอร์โมนอาจส่งผลทำให้ไข่มีคุณภาพต่ำ และไม่เกิดการปฏิสนธิได้ 
  • ความผิดปกติของมดลูกและท่อนำไข่ เช่น ภาวะของโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ รวมถึงท่อนำไข่อุดตัน ทำให้อสุจิไม่สามารถเข้าไปถึงไข่และไปปฏิสนธิได้  

2. ปัจจัยจากฝ่ายชาย

หากว่าฝ่ายหญิงไม่มีความผิดปกติดังกล่าว อาจเป็นไปได้ว่า ปัจจัยที่ทำ IUI ไม่ติด เกิดจากฝ่ายชาย ซึ่งมักมีสาเหตุหลักดังต่อไปนี้ 

  • คุณภาพของอสุจิไม่ดีพอ ทั้งเรื่องจำนวนที่น้อยกว่าปกติ เคลื่อนที่ช้า มีรูปร่างที่ผิดปกติ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้การปฏิสนธิไม่สำเร็จ 
  • ภาวะภูมิคุ้มกันที่ทำให้ความสามารถในการปฏิสนธิลดลง เป็นภาวะที่ร่างกายของฝ่ายหญิงสร้างแอนติบอดีต่อต้านอสุจิ ทำให้โอกาสในการปฏิสนธิลดน้อยลงไป 

3. ปัจจัยอื่น ๆ

  นอกจากปัจจัยเรื่องสุขภาพร่างกายของทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงแล้ว ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการทำ IUI ดังนี้ 

  • ความเครียด ไม่ว่าจะเป็นความเครียดจากการทำงาน หรือความเครียดจากการตั้งใจที่จะมีบุตรแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ล้วนส่งผลต่อความสำเร็จในการทำ IUI 
  • พฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การรับประทานอาหารที่ผิดสุขลักษณะ การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ก็เป็นสาเหตุให้ทำ IUI ไม่ติดเช่นเดียวกัน  
  • ช่วงเวลาที่ทำ IUI การฉีดเชื้อในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม อาจลดโอกาสของการปฏิสนธิ จึงต้องรับคำปรึกษาจากแพทย์เฉพาะทางตั้งแต่เริ่มต้น และติดตามวันที่ไข่ตกอย่างใกล้ชิด เพื่อเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ให้สูงขึ้น 

ผู้หญิงจับท้องหลังจากการทำ IUI

วิธีเพิ่มโอกาสความสำเร็จในการทำ IUI

แม้ว่าจะไม่มีวิธีการใดที่ทำให้สามารถตั้งครรภ์ได้ 100% แต่การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและดูแลสุขภาพให้พร้อมก่อนทำ IUI สามารถเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้ โดยมีวิธีแนะนำ ดังนี้ 

1. ตรวจสุขภาพก่อนทำ IUI

ก่อนการทำ IUI คู่รักทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชายควรจะตรวจสุขภาพก่อนทุกครั้ง โดยเฉพาะตรวจโรคที่เกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีปัญหาสุขภาพใด ๆ ที่อาจเป็นอุปสรรคทำให้เกิดความล้มเหลว โดยแนะนำให้ตรวจความสมบูรณ์ของท่อน้ำไข่ ความหนาของเยื่อบุมดลูก และคุณภาพของอสุจิ 

2. ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

น้ำหนักของฝ่ายหญิงมีผลต่อการตั้งครรภ์เช่นเดียวกัน ซึ่งหากต้องการเพิ่มเปอร์เซ็นต์ความสำเร็จ แนะนำให้รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพราะน้ำหนักที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานอาจจะทำให้ไข่ตกไม่สม่ำเสมอ หรือหากมีน้ำหนักมากกว่าเกณฑ์ก็อาจทำให้เสี่ยงต่อโรคเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์และครรภ์เป็นพิษได้เช่นเดียวกัน 

3. ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต

  ในช่วงที่ทำ IUI ทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชายควรดูแลสุขภาพอย่างเคร่งครัด ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงการออกกำลังกายเป็นประจำ นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ลดความเครียดและหาเวลาว่างเพื่อผ่อนคลายอารมณ์ ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้มากยิ่งขึ้น 

4. เสริมวิตามินและอาหารบำรุง

ในช่วงที่ทำ IUI แพทย์มักจะแนะนำอาหารเสริมที่ช่วยเพิ่มคุณภาพของไข่และอสุจิ ดังต่อไปนี้ 

  • โอเมก้า 3 เสริมคุณภาพของไข่ เพิ่มโอกาสการปฏิสนธิให้มากขึ้น 
  • สังกะสี เสริมสร้างระบบสืบพันธุ์และผลิตไข่ที่มีคุณภาพ 
  • แมกนีเซียม ปรับสมดุลฮอร์โมน และบำรุงระบบสืบพันธุ์ 
  • เหล็ก เพิ่มคุณภาพไข่และช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง 
  • กรดโฟลิก ป้องกันภาวะโลหิตจาง
  • วิตามินบี 3 และ 12 เสริมสร้างฮอร์โมนเพศ และช่วยให้ไข่ตกสม่ำเสมอ 
  • วิตามินซี ชะลอไข่ไม่ให้เสื่อมไว และเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ 

  นอกจากนี้ แนะนำให้รับประทานอาหารที่บำรุงระบบสืบพันธุ์ และสร้างสมดุลให้ฮอร์โมน อย่างไข่ ปลาทะเล ผลไม้ตระกูลเบอร์รี อาโวคาโด 

5. เลือกช่วงเวลาที่เหมาะสม

การทำ IUI ให้ได้ผลดีที่สุดจะต้องทำในช่วงตกไข่ เพื่อเพิ่มโอกาสของการปฏิสนธิ โดยสามารถตรวจช่วงเวลาตกไข่ได้หลายวิธี เช่น ใช้ชุดทดสอบการตกไข่ (LH Ovulation Test) การตรวจอัลตราซาวนด์ การตรวจอุณหภูมิร่างกาย การสังเกตมูกที่ปากมดลูก   

6. ใช้ฮอร์โมนกระตุ้นการตกไข่ตามกำหนดเวลา

นอกจากที่กล่าวมาทั้งหมดแล้ว แพทย์อาจจะแนะนำให้ใช้ฮอร์โมนกระตุ้นการตกไข่ ซึ่งสามารถกำหนดเวลาตกไข่และฉีดน้ำเชื้อ IUI และเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ได้มากขึ้น 

7. ใช้ยาฮอร์โมนกระตุ้นการตกไข่มากกว่า 1 ฟอง

โดยการใช้ยากินหรือยาฉีดกระตุ้นไข่ เพื่อให้มีฟองไข่โตหลายฟอง เพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์จากการมีฟองไข่มากขึ้น

8. ปั่นคัดเลือกน้ำเชื้อ

โดยจะแยกส่วนประกอบที่ไม่จำเป็นอย่างน้ำและเซลล์ที่ตายแล้วออก เพื่อคัดเลือกตัวอสุจิที่มีคุณภาพดีและแข็งแรง ฉีดเข้าไปในโพรงมดลูก

 

ทางเลือกเพิ่มเติม นอกจากการทำ IUI

  ในกรณีที่ทำ IUI ไม่สำเร็จ แพทย์อาจแนะนำให้พิจารณาการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม ดังนี้ 

  • การทำ IVF (In Vitro Fertilization) เป็นกระบวนการปฏิสนธินอกร่างกาย หลังจากปฏิสนธิแล้วค่อยนำตัวอ่อนกลับเข้าสู่โพรงมดลูก เพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์ตามปกติ
  • การทำ ICSI (Intracytoplasmic Sperm Injection) เป็นขั้นตอนของการทำ IVF โดยการฉีดอสุจิเข้าไปในไข่โดยตรง เหมาะกับผู้ที่มีอสุจิน้อยหรือไม่แข็งแรง 

สาเหตุที่ทำให้ IUI ไม่ติดมีหลายปัจจัย ทั้งจากฝ่ายหญิง ฝ่ายชาย และปัจจัยอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม การเตรียมร่างกายให้พร้อมและการเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์เฉพาะทางด้านการรักษาภาวะมีบุตรยาก จะช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร (V Fertility Center) มีแพทย์เฉพาะทางด้านการรักษาภาวะมีบุตรยากที่พร้อมให้คำปรึกษาในการรักษาอย่างครอบคลุมในทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการฝากไข่ การทำ IUI การทำ IVF การทำ ICSI โดยช่วยวางแผนและให้การรักษาด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ห้องปฏิบัติการได้มาตรฐาน ให้คุณเข้าใกล้โอกาสในการตั้งครรภ์ได้มากยิ่งขึ้น

 

บทความโดย แพทย์วรวัฒน์ ศิริปุณย์

ติดต่อสอบถามหรือนัดหมายแพทย์ ได้ที่ 

VFC ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร 

Hotline: 082-903-2035 

LINE Official: @vfccenter

ข้อมูลอ้างอิง:

 

No Comments

Sorry, the comment form is closed at this time.