
ปัจจุบันภาวะมีบุตรยากได้กลายเป็นเรื่องที่พบได้บ่อยมากขึ้น ทำให้คู่รักต่างหาคำตอบว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้มีลูกยาก โดยหนึ่งในปัจจัยที่หลายคนอาจไม่รู้และมักถูกมองข้ามไปก็คือ ‘การดื่มแอลกอฮอล์’ ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อความสามารถในการมีบุตรของผู้ชายได้อย่างมาก
แอลกอฮอล์มีผลต่ออสุจิอย่างไร?
“ดื่มเหล้า มีผลกับอสุจิไหม ?” อย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า “มี” และอาจมีผลกระทบมากกว่าที่หลายคนคาดคิด เนื่องจากการดื่มเหล้า หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะเข้าไปรบกวนกระบวนการสร้างอสุจิใหม่ที่เกิดขึ้นในอัณฑะ โดยเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาประมาณ 74 วัน และแอลกอฮอล์สามารถส่งผลกระทบได้ในทุกขั้นตอนของการสร้างอสุจิ ทำให้อสุจิที่ผลิตออกมาใหม่มีคุณภาพลดลง ดังนี้
1. จำนวนอสุจิลดลง (Oligospermia)
แอลกอฮอล์จะเข้าไปขัดขวางการทำงานของฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ซึ่งเป็นฮอร์โมนหลักที่ช่วยในการผลิตอสุจิ หากระดับฮอร์โมนนี้ลดลง กระบวนการสร้างอสุจิก็จะถูกหยุดชะงักหรือทำงานได้ไม่เต็มที่ จึงทำให้จำนวนอสุจิที่ผลิตออกมาไม่เพียงพอต่อการตั้งครรภ์
2. ความเคลื่อนไหวของอสุจิลดลง (Asthenospermia)
เพื่อให้การตั้งครรภ์เกิดขึ้น อสุจิต้องสามารถเคลื่อนที่ไปถึงไข่และปฏิสนธิกันได้ แต่หากอสุจิเคลื่อนไหวได้ช้าลง หรือเคลื่อนที่ไม่ตรงทิศทาง โอกาสที่อสุจิจะไปถึงไข่และทำการปฏิสนธิก็จะลดลงอย่างมาก ซึ่งการดื่มแอลกอฮอล์สามารถทำให้ระบบประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนที่ของอสุจิถูกขัดขวาง ส่งผลให้การเคลื่อนที่ของอสุจิไม่ราบรื่น หรือไม่สามารถวิ่งไปยังไข่ได้ตามปกติ
3. รูปร่างอสุจิผิดปกติ (Teratospermia)
การดื่มแอลกอฮอล์สามารถส่งผลต่อรูปร่าง ทำให้อสุจิไม่สามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์ โดยอสุจิที่มีรูปร่างผิดปกติ เช่น หัวอสุจิที่มีขนาดใหญ่เกินไป หรือปลายหางที่สั้นเกินไป จะไม่สามารถฝ่ากลไกของไข่ในการปฏิสนธิได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แอลกอฮอล์มีผลต่อสมรรถภาพอย่างไร?
ผลกระทบของแอลกอฮอล์ต่อระบบสืบพันธุ์ของผู้ชายไม่ได้จำกัดเพียงแค่คุณภาพอสุจิ แต่ยังรวมถึงสมรรถภาพทางเพศและความสามารถในการมีบุตร ดังนี้
1. ผลกระทบต่อฮอร์โมน
- ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน
การดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำจะทำให้ระดับเทสโทสเตอโรนในเลือดลดลง ซึ่งเทสโทสเตอโรนเป็นฮอร์โมนหลักที่ควบคุมการสร้างอสุจิและรักษาสมรรถภาพทางเพศ เมื่อระดับฮอร์โมนนี้ลดลง จึงส่งผลโดยตรงต่อการสร้างอสุจิและสมรรถภาพทางเพศ
- ฮอร์โมน LH และ FSH
แอลกอฮอล์จะเข้าไปรบกวนการหลั่งฮอร์โมน Luteinizing Hormone (LH) และ Follicle Stimulating Hormone (FSH) จากต่อมใต้สมองส่วนหน้า ซึ่งฮอร์โมนทั้งสองประเภทมีหน้าที่สำคัญในการควบคุมการทำงานของอัณฑะและกระบวนการสร้างอสุจิ
- ฮอร์โมนเอสโตรเจน
การดื่มแอลกอฮอล์จะเพิ่มระดับเอสโตรเจนในผู้ชาย ซึ่งเมื่อระดับเอสโตรเจนในผู้ชายสูงขึ้น อาจทำให้การผลิตอสุจิลดลงและยังส่งผลต่อสมรรถภาพทางเพศได้
2. ผลกระทบต่อประสิทธิภาพทางเพศ
- การแข็งตัวของอวัยวะเพศ
แอลกอฮอล์ส่งผลกระทบต่อการไหลเวียนของเลือดและระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งจะทำให้อวัยวะเพศชายไม่สามารถแข็งตัวได้อย่างเต็มที่ (Erectile Dysfunction) ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการมีเพศสัมพันธ์
- ความต้องการทางเพศ
ระดับเทสโทสเตอโรนที่ลดลงจากการดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลโดยตรงต่อความต้องการทางเพศ (Libido) และสมรรถภาพโดยรวม ทำให้รู้สึกเฉยเมยต่อกิจกรรมทางเพศมากขึ้น
- การหลั่งน้ำกาม
แอลกอฮอล์สามารถส่งผลต่อการควบคุมการหลั่งและการผลิตน้ำเชื้อได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาการหลั่งเร็วขึ้น ช้าลง หรือไม่เกิดขึ้นเลย รวมถึงส่งผลต่อปริมาณน้ำกามที่ลดลง
3. ผลกระทบระยะยาว
- โครงสร้างของอัณฑะ
การดื่มแอลกอฮอล์เป็นเวลานานทำให้เกิดการอักเสบและการเสื่อมสลายของเนื้อเยื่อในอัณฑะ ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของเซลล์สร้างอสุจิและเซลล์สร้างฮอร์โมน ทำให้ประสิทธิภาพการสืบพันธุ์ลดลงอย่างถาวร
- หลอดเลือดในอวัยวะสืบพันธุ์
แอลกอฮอล์เป็นสาเหตุของความดันโลหิตสูงและปัญหาหลอดเลือด ซึ่งส่งผลต่อการไหลเวียนเลือดในบริเวณอวัยวะเพศและอัณฑะ ทำให้การมีเพศสัมพันธ์ หรือการทำงานของระบบสืบพันธุ์ลดลง
- ระบบประสาทส่วนกลาง
แอลกอฮอล์ส่งผลต่อการเชื่อมต่อระหว่างสมองและอวัยวะสืบพันธุ์ ทำให้สัญญาณประสาทที่ควบคุมการตอบสนองทางเพศและการทำงานของระบบฮอร์โมนผิดปกติ
แอลกอฮอล์มีผลกระทบที่ชัดเจนต่ออสุจิและสมรรถภาพการสืบพันธุ์ของผู้ชาย ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้แม้ในผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณน้อย สำหรับคู่สามีภรรยาที่กำลังวางแผนมีบุตรหรือประสบปัญหาภาวะมีบุตรยาก การลด หรือหยุดการดื่มแอลกอฮอล์เป็นขั้นตอนสำคัญที่ควรพิจารณาควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาพโดยรวม แต่ถ้าใครที่ต้องการตรวจภาวะมีบุตรยาก ที่ VFC Center ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร (V Fertility Center) ให้บริการตรวจภาวะมีบุตรยากสำหรับคู่รักที่กำลังวางแผนมีลูก พร้อมรับการประเมินและคำแนะนำด้านการรักษา เพื่อสร้างครอบครัวตามที่ได้ฝันไว้
บทความโดย แพทย์วรวัฒน์ ศิริปุณย์
ติดต่อสอบถามหรือนัดหมายแพทย์ ได้ที่
VFC ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร
Hotline: 082-903-2035
LINE Official: @vfccenter

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสูติ-นรีเวชวิทยาและเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
No Comments
Sorry, the comment form is closed at this time.