
ในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ การพบซีสต์ในรังไข่ถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เพราะซีสต์บางประเภทอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพด้านการเจริญพันธุ์โดยตรง หนึ่งในนั้นคือ “เดอร์มอยด์ซีสต์” ที่แม้ส่วนใหญ่จะเป็นเนื้องอกชนิดที่ไม่ร้ายแรง แต่หากไม่ได้รับการวินิจฉัยและดูแลอย่างเหมาะสม ก็อาจรบกวนระบบสืบพันธุ์หรือทำให้การตั้งครรภ์เป็นเรื่องยากขึ้น โดยเฉพาะในผู้หญิงที่กำลังวางแผนมีลูกหรือมีอาการผิดปกติในช่องท้องที่ยังหาสาเหตุไม่ได้
เดอร์มอยด์ซีสต์คืออะไร?
เดอร์มอยด์ซีสต์ (Dermoid Cyst) หรือชื่อทางการแพทย์ว่า Mature Cystic Teratoma เป็นถุงน้ำในรังไข่ที่เกิดจากเซลล์ไข่ที่เจริญเติบโตผิดปกติ ลักษณะของเดอร์มอยด์ซีสต์ คือมักเป็นก้อนกลม ผนังถุงหนา ภายในมักประกอบไปด้วยเนื้อเยื่อหลายชนิด เช่น ผิวหนัง เส้นผม ฟัน กระดูก หรือไขมัน เนื่องจากเดอร์มอยด์ซีสต์มีสาเหตุมาจากเซลล์ต้นกำเนิด (Totipotent cells) ที่มีความสามารถพัฒนาเป็นเนื้อเยื่อต่าง ๆ ได้ มักอยู่ผิดตำแหน่งโดยกำเนิด และหากได้รับการกระตุ้นบางอย่าง จะเจริญเติบโตกลายเป็นเดอร์มอยด์ซีสต์ในเวลาต่อมา
แต่นอกจากจะพบในรังไข่แล้ว ซีสต์ชนิดนี้ยังสามารถพบได้ที่ตำแหน่งอื่น ๆ ของร่างกายด้วย เช่น หางคิ้ว จมูก ช่องท้อง หนังศีรษะ สามารถตรวจพบได้โดยการตรวจภายใน การอัลตราซาวนด์ การทำ MRI และการทำ CT Scan แต่หากซีสต์มีขนาดใหญ่มาก ก็สามารถคลำพบได้เช่นกัน
อาการของเดอร์มอยด์ซีสต์
โดยทั่วไป เดอร์มอยด์ซีสต์มักไม่แสดงอาการและถูกตรวจพบโดยบังเอิญในระหว่างการตรวจสุขภาพหรืออัลตราซาวนด์ แต่หากมีขนาดใหญ่ขึ้น ส่วนใหญ่จะก่อให้เกิดอาการเหล่านี้
- ปวดหน่วงหรือรู้สึกอึดอัดบริเวณท้องน้อย โดยเฉพาะข้างที่มีซีสต์ มักเป็นอาการแรก ๆ ที่พบในผู้ป่วยเดอร์มอยด์ซีสต์
- รู้สึกแน่นท้อง ท้องอืด หรือคล้ายมีก้อนในท้อง เป็นผลมาจากซีสต์ที่ดันเบียดอวัยวะในช่องท้อง เช่น ลำไส้ กระเพาะปัสสาวะ ส่งผลให้ปัสสาวะบ่อย หรือถ่ายอุจจาระลำบาก
- ประจำเดือนมาไม่ปกติ รวมทั้งมีอาการปวดท้องก่อนหรือขณะมีประจำเดือนมากกว่าปกติ
- ปวดท้องหรือเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะท่าที่มีการกดทับบริเวณอุ้งเชิงกราน
ภาวะแทรกซ้อนจากเดอร์มอยด์ซีสต์ที่ต้องระวัง
นอกเหนือจากอาการทั่วไปที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว บางกรณี เดอร์มอยด์ซีสต์ยังก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ป่วยได้ จึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาทันที โดยอาการที่มักพบได้ คือ
1. รังไข่มีภาวะบิดขั้ว (Ovarian Torsion)
เป็นภาวะแทรกซ้อนจากเดอร์มอยด์ซีสต์ที่พบได้มากที่สุด ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องน้อยด้านซ้ายหรือขวาอย่างรุนแรง กดเจ็บ คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีไข้ต่ำ หากไม่ได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน อาจทำให้รังไข่ขาดเลือดและต้องตัดรังไข่ออกทั้งหมด
2. ซีสต์แตกหรือรั่ว
หากซีสต์แตกหรือรั่ว จะทำให้เกิดการอักเสบในช่องท้อง จึงเกิดอาการปวดท้องน้อยฉับพลันและปวดตลอดเวลา หากมีเลือดออกในช่องท้องมาก อาจรุนแรงจนมีภาวะช็อกได้
3. ซีสต์เกิดการติดเชื้อ
เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้น้อย แต่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง ปวดท้องน้อยรุนแรง และต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนด้วยการผ่าตัดหรือการให้ยาปฏิชีวนะ
4. ลุกลามกลายเป็นมะเร็ง
แม้ซีสต์ประเภทนี้ส่วนใหญ่จะเป็นเนื้องอกที่ไม่ร้ายแรง แต่ในบางกรณีที่ซีสต์อาจลุกลามกลายเป็นมะเร็งได้ โดยเฉพาะในผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 45 ปี หรือมีซีสต์ขนาดใหญ่กว่า 10 เซนติเมตร
ดังนั้น แม้เดอร์มอยด์ซีสต์จะเป็นซีสต์ที่ไม่แสดงอาการ แต่การตรวจสุขภาพเป็นประจำและการติดตามอาการอย่างใกล้ชิดเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
เดอร์มอยด์ซีสต์มีผลต่อการตั้งครรภ์และมีบุตรอย่างไร?
แม้เดอร์มอยด์ซีสต์จะไม่ใช่เนื้อร้ายเหมือนมะเร็ง แต่เมื่อเกิดในสตรีวัยเจริญพันธุ์ ก็สามารถส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์และความสามารถในการมีบุตรได้ผ่านอาการเหล่านี้
1. ซีสต์เบียดเนื้อเยื่อรังไข่ ทำให้ไข่ตกน้อยลง
เมื่อเดอร์มอยด์ซีสต์มีขนาดใหญ่มากขึ้น อาจทำให้เนื้อเยื่อรังไข่ที่ทำหน้าที่สร้างไข่ถูกเบียดหรือถูกทำลาย ส่งผลให้รังไข่ผลิตไข่ได้น้อยลงในแต่ละรอบเดือน รวมถึงอาจทำให้ไข่มีคุณภาพลดลง กระทบต่อโอกาสประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์ด้วยวิธีธรรมชาติหรือจากการทำ ICSI และ IVF
2. ขัดขวางการเก็บไข่สำหรับทำ ICSI และ IVF
การรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธี ICSI หรือ IVF แพทย์จำเป็นต้องเก็บไข่จากรังไข่ ซึ่งหากมีเดอร์มอยด์ซีสต์ขนาดใหญ่ หรืออยู่ใกล้จุดที่ต้องใช้เข็มเจาะเก็บไข่ อาจกลายเป็นอุปสรรคในการเก็บไข่ เนื่องจากเสี่ยงต่อการทำให้ซีสต์แตก หรือเก็บไข่ได้น้อย ส่งผลให้รอบการรักษามีโอกาสสำเร็จน้อยลง
3. เพิ่มความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์
หากตั้งครรภ์ระหว่างมีเดอร์มอยด์ซีสต์ จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะภาวะรังไข่บิดขั้ว ซึ่งเกิดจากการที่มดลูกโตขึ้นและดึงรังไข่ไปในทิศทางที่ทำให้บิดตัว หรือหากซีสต์แตก จะทำให้เกิดการอักเสบและมีเลือดออกในช่องท้อง ส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์โดยตรง และอาจจำเป็นต้องผ่าตัดฉุกเฉินในระหว่างตั้งครรภ์
วิธีรักษาเดอร์มอยด์ซีสต์
เดอร์มอยด์ซีสต์ไม่สามารถมีขนาดที่เล็กลงได้จากการรับประทานยาหรือฮอร์โมน การรักษาจึงมักแบ่งเป็น 2 วิธี ดังนี้
- กรณีที่ซีสต์มีขนาดเล็กและไม่มีภาวะแทรกซ้อน แพทย์อาจพิจารณาติดตามอาการเป็นระยะโดยไม่มีการผ่าตัดทันที แต่ต้องเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของขนาดหรืออาการผิดปกติอยู่เสมอ
- กรณีที่ซีสต์มีขนาดใหญ่ขึ้นและเกิดภาวะแทรกซ้อน จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด เพื่อรักษารังไข่ไว้ แต่หากซีสต์มีขนาดใหญ่มาก อาจจำเป็นต้องตัดรังไข่ข้างนั้นออกด้วย ปัจจุบันนิยมใช้วิธีการผ่าตัดด้วยการส่องกล้อง เนื่องจากเป็นวิธีที่ลดโอกาสเกิดพังผืดและภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดได้
หากคุณมีอาการผิดปกติในระบบสืบพันธุ์ หรือได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเดอร์มอยด์ซีสต์ และกำลังวางแผนมีบุตร แนะนำให้ปรึกษากับสูตินรีแพทย์ผู้ชำนาญการที่คลินิก IVF เพื่อวางแผนการรักษาอย่างรอบคอบและเหมาะสมกับเป้าหมายการสร้างครอบครัว ซึ่งที่ VFC Center ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร (V Fertility Center) เราพร้อมให้คำแนะนำและการดูแลอย่างใกล้ชิดในทุกขั้นตอน เพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์อย่างราบรื่นโดยสูตินรีแพทย์และเจ้าหน้าที่ประสบการณ์สูง
บทความโดย แพทย์หญิงศรมน ทรงวีรธรรม
ติดต่อสอบถามหรือนัดหมายแพทย์ ได้ที่
VFC ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร
Hotline: 082-903-2035
LINE Official: @vfccenter

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสูติ-นรีเวชวิทยาและเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
No Comments
Sorry, the comment form is closed at this time.