
หากกล่าวถึงอวัยวะสำคัญของระบบสืบพันธุ์เพศหญิง ย่อมต้องนึกถึง ‘รังไข่’ ซึ่งทำหน้าที่ผลิตไข่และฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ หากรังไข่ทำงานผิดปกติ อาจส่งผลให้มีบุตรยากหรือเกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมา ดังนั้น เพื่อเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์ รวมถึงรู้ทันความผิดปกติที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายในระยะยาว การรู้วิธีสังเกตความผิดปกติของรังไข่ จึงเป็นสิ่งที่ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ทุกคนไม่ควรมองข้าม
ลักษณะ ความหมาย และหน้าที่ของรังไข่
รังไข่ หรือ Ovary คือ อวัยวะสำคัญของระบบสืบพันธุ์เพศหญิง ทำหน้าที่ผลิตเซลล์ไข่ (Oocyte) และสร้างฮอร์โมนเพศที่ควบคุมการมีประจำเดือนและการตั้งครรภ์ รังไข่มีบทบาทสำคัญในระบบสืบพันธุ์ของเพศหญิง โดยเกี่ยวข้องกับกระบวนการตกไข่และการควบคุมฮอร์โมนเพศหญิง เช่น เอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ซึ่งมีผลโดยตรงต่อรอบประจำเดือน รวมถึงการเตรียมมดลูกสำหรับการตั้งครรภ์ และลักษณะทางกายภาพของเพศหญิงด้วย
สำหรับลักษณะทางกายภาพของรังไข่นั้น เป็นอวัยวะรูปไข่ขนาดเล็ก ตั้งอยู่บริเวณสองข้างของมดลูก ภายในอุ้งเชิงกราน รังไข่แต่ละข้างมีขนาดโดยเฉลี่ยประมาณ 3-5 เซนติเมตร ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามช่วงวัยและภาวะของร่างกาย
หน้าที่ของรังไข่
- ทำหน้าที่ผลิตเซลล์ไข่ โดยผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์จะมีเซลล์ไข่ประมาณ 300,000 ฟอง ซึ่งไข่จะถูกกระตุ้นให้เจริญเติบโตและตกไข่เดือนละ 1 ฟอง หากไข่ได้รับการปฏิสนธิ จะเกิดการตั้งครรภ์ แต่หากไม่ถูกปฏิสนธิ ไข่จะสลายตัวและถูกขับออกมาพร้อมประจำเดือน
- รังไข่ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนเพศหญิงที่สำคัญ ได้แก่
- เอสโตรเจน (Estrogen) : ฮอร์โมนควบคุมการพัฒนาและเจริญเติบโตของลักษณะทางกายภาพของเพศหญิง
- โปรเจสเตอโรน (Progesterone) : มีบทบาทสำคัญในการเตรียมเยื่อบุโพรงมดลูกให้เหมาะสมสำหรับการฝังตัวของตัวอ่อน
วิธีสังเกตความผิดปกติของรังไข่
จากที่กล่าวไปข้างต้น แสดงให้เห็นว่ารังไข่เป็นอวัยวะที่มีบทบาทสำคัญต่อเพศหญิงและระบบสืบพันธุ์ หากรังไข่ทำงานผิดปกติ จึงอาจส่งผลต่อรอบเดือน ความสมดุลของฮอร์โมน และสุขภาพโดยรวม โดยคุณสามารถสังเกตความผิดปกติเบื้องต้นได้จากอาการเหล่านี้
1. ประจำเดือนมาผิดปกติ
รอบเดือนที่ผิดปกติเป็นหนึ่งในสัญญาณหลักที่บ่งบอกถึงภาวะผิดปกติของรังไข่ ผู้หญิงที่รังไข่ทำงานผิดปกติมักมีรอบเดือนที่มาไม่สม่ำเสมอ เช่น มาเร็วกว่าปกติ (รอบสั้นกว่า 21 วัน) หรือมาห่างเกินไป (รอบยาวกว่า 35 วัน) นอกจากนี้ การขาดประจำเดือนโดยไม่มีการตั้งครรภ์ ยังเป็นสัญญาณว่ารังไข่หยุดทำงาน หรือมีภาวะรังไข่เสื่อมก่อนวัยด้วย
2. อาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง
อาการปวดท้องน้อยเรื้อรังหรือปวดบริเวณอุ้งเชิงกรานสามารถเกิดจากความผิดปกติของรังไข่ได้เช่นกัน เช่น ปวดท้องน้อยรุนแรงขณะมีประจำเดือน อาจเป็นสัญญาณของเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) หรือหากปวดท้องน้อยตลอดเวลาแม้ไม่ใช่ช่วงมีประจำเดือน อาจมีความเสี่ยงเกิดซีสต์ในรังไข่หรือภาวะรังไข่บิดได้
3. อาการที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของฮอร์โมน
รังไข่มีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการควบคุมระบบสืบพันธุ์ หากรังไข่ทำงานผิดปกติ ย่อมส่งผลให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุล ก่อให้เกิดอาการผิดปกติ เช่น ขนขึ้นมากผิดปกติ หน้ามัน สิวขึ้น อารมณ์แปรปรวน ช่องคลอดแห้ง
4. ระบบเผาผลาญทำงานผิดปกติ
แม้จะเป็นอวัยวะสืบพันธุ์ แต่รังไข่ก็มีบทบาทต่อระบบเผาผลาญเช่นกัน หากเกิดความผิดปกติ มักแสดงออกผ่าน 3 อาการนี้
- น้ำหนักขึ้นง่าย เนื่องจากภาวะ PCOS ทำให้ระดับอินซูลินผิดปกติ ส่งผลให้ร่างกายสะสมไขมันได้ง่ายขึ้น
- ผู้ที่มีปัญหารังไข่ผิดปกติมักมีระดับอินซูลินสูงกว่าปกติ และมีภาวะดื้ออินซูลิน ทำให้เสี่ยงต่อโรคเบาหวานประเภทที่ 2
- ร่างกายเผาผลาญพลังงานได้น้อยลง ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นโดยไม่มีสาเหตุ
รังไข่ผิดปกติ จะส่งผลต่อร่างกายอย่างไร ?
พอจะเห็นภาพกันบ้างแล้วว่า รังไข่มีหน้าที่อะไร และผลิตฮอร์โมนอะไรบ้าง สุดท้ายคือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับร่างกายหากรังไข่มีความผิดปกติ ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพหลายด้าน ดังนี้
1. ส่งผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์
รังไข่ที่มีความผิดปกติ ย่อมส่งผลต่อกระบวนการตกไข่โดยตรง ทำให้เสี่ยงต่อภาวะมีบุตรยาก โดยภาวะที่พบบ่อย ได้แก่
- ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome: PCOS) ส่งผลให้มีการตกไข่ไม่สม่ำเสมอหรือไม่มีการตกไข่เลย
- ภาวะรังไข่เสื่อมก่อนวัย (Primary Ovarian Insufficiency: POI) ทำให้รังไข่หยุดทำงานเร็วกว่าปกติ ส่งผลให้รอบเดือนขาดหายและเกิดภาวะหมดประจำเดือนก่อนวัย
- ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) เนื้อเยื่อโพรงมดลูกเจริญผิดที่ไปอยู่บริเวณรังไข่หรือท่อนำไข่ ส่งผลให้เกิดพังผืดและขัดขวางการปฏิสนธิ
- ซีสต์หรือเนื้องอกรังไข่ หากมีขนาดใหญ่ อาจไปกดทับรังไข่และส่งผลให้ระบบการตกไข่ผิดปกติ
2. ฮอร์โมนในร่างกายทำงานผิดปกติ
หากรังไข่ทำงานผิดปกติ ระดับฮอร์โมนเพศหญิงอาจไม่สมดุล ส่งผลให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นประจำเดือนมาไม่ปกติ อารมณ์แปรปรวน ผิวมัน สิวขึ้น ขนขึ้นผิดปกติ และมีภาวะช่องคลอดแห้ง
3. เพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคเรื้อรัง
ความผิดปกติของรังไข่ โดยเฉพาะภาวะฮอร์โมนไม่สมดุล เป็นสาเหตุสำคัญของโรคเรื้อรังหลายชนิด เช่น โรคเบาหวานประเภทที่ 2 ซึ่งพบได้บ่อยในผู้ที่มีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ โรคกระดูกพรุน เนื่องจากมวลกระดูกลดลงเพราะฮอร์โมนเอสโตรเจนแปรปรวน และโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
รังไข่มีปัญหา อย่าเพิ่งหมดหวังในการมีบุตร เข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์เฉพาะทางได้ที่ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร (V Fertility Center) ศูนย์ผู้มีบุตรยากที่ให้การรักษาอย่างครอบคลุม เช่น การฝากไข่ การทำ IVF การทำ ICSI ช่วยวางแผนและให้การรักษาโดยสูตินรีแพทย์ประสบการณ์สูง ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ห้องปฏิบัติการได้มาตรฐาน ดูแลทุกขั้นตอนอย่างใกล้ชิดเพื่อให้การรักษาภาวะมีบุตรยากและการวางแผนตั้งครรภ์ดำเนินไปอย่างราบรื่น
บทความโดย แพทย์หญิงศรมน ทรงวีรธรรม
ติดต่อสอบถามหรือนัดหมายแพทย์ ได้ที่
VFC ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร
Hotline: 082-903-2035
LINE Official: @vfccenter
ข้อมูลอ้างอิง:
- Ovaries. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2568 จาก https://my.clevelandclinic.org/health/body/22999-ovaries
- Causes and Treatments for Ovary Pain. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2568 จาก https://www.healthline.com/health/womens-health/ovary-pain

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสูติ-นรีเวชวิทยาและเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
No Comments
Sorry, the comment form is closed at this time.