เปิดทุกวัน 8:00 น. - 17.00 น

เวลาทำการ

Follow Us

เป็นโรคพุ่มพวง (SLE) ส่งผลต่อโอกาสการตั้งครรภ์ไหม?

ผู้หญิงป่วยเป็นโรคพุ่มพวงมีอาการกังวลเรื่องการตั้งครรภ์

โรคพุ่มพวง (SLE) คือโรคภูมิแพ้ตัวเองที่ส่งผลกระทบต่อหลายระบบในร่างกาย ซึ่งพบบ่อยในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ สำหรับคุณผู้หญิงที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคพุ่มพวง อาจกังวลว่าโรคนี้จะส่งผลต่อการตั้งครรภ์และอาจทำให้ลูกน้อยที่เกิดมาไม่แข็งแรงไปด้วย 

แต่ความจริงแล้ว แม้โรคพุ่มพวงจะเพิ่มความเสี่ยงบางประการระหว่างการตั้งครรภ์ แต่หากมีการวางแผนที่ดี ควบคู่ไปกับการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ผู้ป่วยโรคพุ่มพวงส่วนใหญ่ก็สามารถตั้งครรภ์และมีบุตรที่แข็งแรงได้

โรคพุ่มพวงคืออะไร?

โรคพุ่มพวง หรือที่เรียกในทางการแพทย์ว่า Systemic Lupus Erythematosus (SLE) เป็นโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเองชนิดหนึ่ง ซึ่งระบบภูมิคุ้มกันปกติจะทำหน้าที่ปกป้องร่างกายจากเชื้อโรค แต่ผู้ที่เป็นโรคนี้กลับโจมตีเนื้อเยื่อของตนเอง ส่งผลให้เกิดการอักเสบและความเสียหายในระบบอวัยวะ อาทิ ผิวหนัง ข้อต่อ ไต หัวใจ และระบบประสาท

สาเหตุของการเกิดโรคพุ่มพวง

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่มีการคาดการณ์กันว่า เกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม ฮอร์โมน (โดยเฉพาะฮอร์โมนเพศหญิง) และสิ่งแวดล้อม เช่น แสงแดดหรือการติดเชื้อบางชนิด ที่อาจมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นทำให้เกิดโรค สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่พบได้บ่อย ได้แก่ ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์อายุระหว่าง 15-45 ปี ซึ่งพบโรคนี้ได้บ่อยกว่าผู้ชายหลายเท่า

เมื่อเปรียบเทียบกับโรคภูมิแพ้ตัวเองชนิดอื่น เช่น โรครูมาตอยด์ หรือโรคสะเก็ดเงิน โรคพุ่มพวงมีลักษณะเฉพาะ คือสามารถส่งผลกระทบต่อหลายระบบในร่างกายพร้อมกัน และมีรูปแบบของอาการที่หลากหลาย ทำให้การวินิจฉัยต้องอาศัยการประเมินทางคลินิกและผลตรวจทางห้องปฏิบัติการร่วมกัน

โรคพุ่มพวง มีอาการอย่างไร?

  • อาการทางผิวหนัง เช่น มีผื่นแดงรูปปีกผีเสื้อบริเวณแก้มและสันจมูก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์เฉพาะของโรคนี้
  • อาการทางระบบข้อและกล้ามเนื้อ เช่น ปวดข้อ ข้อบวม หรือข้อติดขัดโดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายถาวรที่ข้อ
  • อาการที่เกิดจากผลกระทบต่อระบบอวัยวะภายใน ได้แก่ ไตอักเสบ (Lupus Nephritis) ที่อาจนำไปสู่ภาวะไตวาย หัวใจอักเสบ และปอดอักเสบ
  • อาการทางระบบเลือดและภูมิคุ้มกัน เช่น ภาวะโลหิตจาง เกล็ดเลือดต่ำ ลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด เนื้อเยื่อหรือเส้นเลือดเกิดการหดตัวเมื่อสัมผัสกับอากาศเย็น

ปัจจัยกระตุ้นการกำเริบของโรค

  • แสงแดด อาจทำให้เกิดผื่นแพ้แสง หรือการเปลี่ยนแปลงภายในร่างกายบางอย่าง
  • การติดเชื้อ อาจเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดโรค SLE หรือทำให้ในช่วงที่โรคสงบเกิดอาการกำเริบได้
  • ยาบางชนิด สามารถกระตุ้นให้โรคกำเริบได้ เช่น ยาลดความดันโลหิต ยากันชัก ยาปฏิชีวินะ เป็นต้น ซึ่งโดยทั่วไป หากมีอาการที่เกิดจากการถูกกระตุ้นด้วยยา เมื่อหยุดยามักจะทำให้อาการของโรคดีขึ้น

โรคพุ่มพวงหรือโรค SLE อันตรายไหม ต่อการตั้งครรภ์?

ผู้ป่วยโรคพุ่มพวงมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งโดยทั่วไปความเสี่ยงที่พบได้บ่อยจะมีดังนี้

  • ภาวะครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia): ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงที่เกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือด ทำให้ความดันโลหิตสูง โปรตีนรั่วในปัสสาวะ และอาจนำไปสู่ภาวะไตวายหรือตับวาย อีกทั้งผู้ป่วยที่เป็นโรค SLE จะพบภาวะครรภ์เป็นพิษได้บ่อยกว่าหญิงตั้งครรภ์ทั่วไป โดยเฉพาะในรายที่มีการอักเสบของไตร่วมด้วย
  • การแท้งบุตร: นับว่ามีความเสี่ยงค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีภาวะแอนตีฟอสโฟไลปิดซินโดรม (Antiphospholipid Syndrome – APS) ซึ่งเป็นภาวะที่ทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดรก ส่งผลให้การเลี้ยงดูทารกในครรภ์บกพร่อง
  • การคลอดก่อนกำหนด: ผู้ป่วย SLE มีแนวโน้มคลอดก่อนกำหนดมากขึ้น เนื่องจากเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคและผลข้างเคียงจากการรักษา เช่น การใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ขนาดสูง
  • ทารกมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์: เกิดจากความผิดปกติของการไหลเวียนเลือดไปยังรก อันเป็นผลจากการอักเสบหรือการเกิดลิ่มเลือด อาจทำให้ทารกได้รับออกซิเจนและสารอาหารไม่เพียงพอ ส่งผลให้น้ำหนักตัวแรกเกิดน้อยกว่าปกติ

ผลกระทบของโรคต่อตัวอ่อนและทารกในครรภ์

โรคพุ่มพวงในมารดา คือหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อตัวอ่อนและทารกในครรภ์ โดยเฉพาะในกรณีที่มารดามีแอนติบอดีต่อต้าน SSA (Ro) และ SSB (La) ซึ่งสามารถถ่ายทอดผ่านรกไปยังทารก ทำให้ลูกน้อยมีความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจเต้นช้าแต่กำเนิด (Congenital Heart Block) ซึ่งเป็นภาวะที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ในช่วงการตั้งครรภ์ 

นอกจากนี้ ทารกบางรายอาจมีโอกาสเกิดภาวะผื่นแดงหรือความผิดปกติทางระบบผิวหนังที่เรียกว่า “Neonatal Lupus” ได้ อย่างไรก็ตาม อาการเหล่านี้มักจะค่อย ๆ ดีขึ้นเมื่อร่างกายของทารกกำจัดแอนติบอดีที่ได้รับจากมารดาออกไปตามธรรมชาติ

ความเสี่ยงต่อการกำเริบของโรคระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอด

  • ผู้ป่วยโรคพุ่มพวงมีความเสี่ยงที่โรคจะกำเริบเพิ่มขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่สองและสาม
  • ช่วงหลังคลอดเป็นอีกหนึ่งช่วงวิกฤตที่โรคมีแนวโน้มกำเริบได้จากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนและระบบภูมิคุ้มกัน
  • การกำเริบของโรคในระหว่างตั้งครรภ์มักแสดงออกในรูปแบบของไตอักเสบ (Lupus Nephritis) หรือข้ออักเสบ
  • ผู้ป่วยที่ควบคุมโรคได้ไม่ดีตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ มีโอกาสสูงที่จะเกิดภาวะกำเริบระหว่างตั้งครรภ์
  • การใช้ยา Prednisolone ในปริมาณต่ำ สามารถช่วยควบคุมการอักเสบได้ โดยยาชนิดนี้มีความปลอดภัยต่อทารกมากกว่ายากลุ่มสเตียรอยด์อื่น ๆ เช่น Dexamethasone
  • ควรเฝ้าระวังอาการอย่างใกล้ชิด โดยการนัดตรวจทุก 4–6 สัปดาห์ เพื่อลดความเสี่ยงจากการกำเริบของโรค

โรคภูมิแพ้ตัวเองหายได้ไหม วางแผนควบคุมโรคก่อนตั้งครรภ์อย่างไร?

 

ผู้หญิงเป็นโรคพุ่มพวงในช่วงที่อาการสงบ ปรึกษาแพทย์วางแผนมีบุตร

แม้ว่าโรคพุ่มพวงจะยังไม่มีวิธีรักษาอาการให้หายขาด แต่สามารถควบคุมให้อยู่ในภาวะสงบได้ ด้วยการดูแลตนเองอย่างสม่ำเสมอ ควบคู่ไปกับการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด 

  • ปรึกษาทีมแพทย์สหสาขา รวมถึงสูติแพทย์เฉพาะทางด้านการตั้งครรภ์เสี่ยงสูง และอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคข้อและรูมาติสซั่ม เพื่อวางแผนและประเมินความเสี่ยงอย่างรอบด้าน
  • ตรวจคัดกรองภาวะแทรกซ้อนของโรค เช่น การประเมินการทำงานของไต ระดับโปรตีนในปัสสาวะ การทำงานของหัวใจ และการประเมินระบบโลหิต
  • ตรวจหาแอนติบอดีที่เกี่ยวข้องกับภาวะแทรกซ้อนในการตั้งครรภ์ ได้แก่ การตรวจหา Anti-Ro (SSA), Anti-La (SSB) และแอนติบอดีในกลุ่มแอนตีฟอสโฟไลปิด เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจเต้นช้าในทารก และภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
  • ควบคุมโรคให้อยู่ในภาวะสงบนานอย่างน้อย 6 เดือน เพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ลดความเสี่ยงต่อการกำเริบของโรคและภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์
  • ปรับเปลี่ยนการใช้ยาให้เหมาะสมก่อนตั้งครรภ์ หยุดยากลุ่มกดภูมิที่ไม่ปลอดภัยต่อทารก เช่น Methotrexate, Cyclophosphamide, Mycophenolate mofetil และ Leflunomide ตามแนวทางที่แพทย์กำหนด
  • เสริมสร้างสุขภาพทั่วไปและโภชนาการ รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม รับประทานอาหารที่อุดมด้วยวิตามินและแร่ธาตุ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งกระตุ้นที่ทำให้อาการโรคกำเริบ เช่น แสงแดดโดยตรงหรือความเครียด

การฝากไข่ ทางเลือกในการวางแผนครอบครัวสำหรับผู้ป่วยโรคพุ่มพวง

การฝากไข่เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สำคัญสำหรับผู้ป่วยโรคพุ่มพวงที่ต้องการวางแผนครอบครัวในอนาคต โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องใช้ยากดภูมิชนิดรุนแรง หรือโรคมีแนวโน้มกำเริบซ้ำ

โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมในการฝากไข่สำหรับผู้ป่วยโรคพุ่มพวง คือช่วงที่โรคอยู่ในภาวะสงบ และยังมีอายุน้อยเพื่อให้ได้ไข่ที่มีคุณภาพดี ซึ่งในปัจจุบันกระบวนการฝากไข่มีความปลอดภัยสูงและใช้เทคโนโลยีการแช่แข็งไข่แบบ Vitrification ซึ่งเป็นการแช่แข็งอย่างรวดเร็วที่อุณหภูมิ -196 องศาเซลเซียส โดยไข่ที่แช่แข็งจะสามารถเก็บไว้ได้เป็นเวลาหลายปี

หากคุณเป็นโรคพุ่มพวงและต้องการวางแผนมีบุตรในอนาคต การฝากไข่อาจเป็นทางเลือกที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มโอกาสในการมีบุตรที่สมบูรณ์แข็งแรง โดยเฉพาะในช่วงที่โรคสงบและคุณภาพไข่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี 

VFC Center ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร (V Fertility Center) เป็นศูนย์เฉพาะทางด้านการรักษาภาวะมีบุตรยากที่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เรามีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมให้คำปรึกษาและวางแผนการรักษาเฉพาะบุคคล พร้อมทั้งเทคโนโลยีทันสมัยในการฝากไข่และช่วยการเจริญพันธุ์ เพื่อให้คุณมีโอกาสมีบุตรที่แข็งแรง แม้จะมีความท้าทายจากโรคพุ่มพวง ติดต่อเราวันนี้เพื่อปรึกษาและวางแผนครอบครัวอย่างมั่นใจ

 

บทความโดย แพทย์หญิงศรมน ทรงวีรธรรม

ติดต่อสอบถามหรือนัดหมายแพทย์ ได้ที่ 

VFC ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร 

Hotline: 082-903-2035 

LINE Official: @vfccenter

No Comments

Sorry, the comment form is closed at this time.