
สำหรับผู้หญิงที่วางแผนมีบุตรด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ไม่ว่าจะด้วยวิธี IVF หรือ ICSI กระบวนการฉีดยากระตุ้นไข่ถือเป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญที่ช่วยให้รังไข่ผลิตไข่ได้มากกว่าปกติ ทั้งยังเป็นการเพิ่มโอกาสให้การปฏิสนธิประสบความสำเร็จ คู่แต่งงานจึงควรใส่ใจและเข้าใจกระบวนการนี้อย่างรอบด้าน จะได้เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการรักษาภาวะมีบุตรยาก และเพิ่มโอกาสให้กับการมีบุตร
กระบวนการกระตุ้นไข่คืออะไร มีกระบวนการอย่างไร ?
การกระตุ้นไข่ (Ovarian Stimulation) เป็นกระบวนการสำคัญสำหรับผู้ที่วางแผนมีบุตรด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ไม่ว่าจะใช้วิธี ICSI (Intracytoplasmic Sperm Injection) หรือ IVF (In Vitro Fertilization) ก็ตาม โดยกระบวนการนี้จะใช้ยาฮอร์โมนฉีดเพื่อกระตุ้นรังไข่ให้ผลิตไข่หลายใบในรอบเดือนเดียว ซึ่งแตกต่างจากการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติที่ร่างกายจะมีไข่โตมาเพียงใบเดียวในแต่ละรอบ
ซึ่งในขั้นตอนการทำ ICSI และ IVF การกระตุ้นไข่จะเริ่มต้นหลังจากที่แพทย์ได้วางแผนการรักษาและประเมินสภาพร่างกายของผู้ป่วยแล้ว โดยผู้เข้ารับการรักษาต้องฉีดยากระตุ้นไข่ตามช่วงเวลาที่กำหนด และพบแพทย์เพื่อติดตามผลอย่างใกล้ชิด
ขั้นตอนการฉีดยากระตุ้นไข่
1. การเตรียมตัวก่อนฉีดยากระตุ้นไข่
เมื่อแพทย์วางแผนการรักษาเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนแรกของการกระตุ้นไข่คือการเตรียมตัวให้พร้อม โดยทั่วไปแพทย์จะนัดหมายให้ผู้ป่วยเข้าพบเพื่อประเมินสภาพรังไข่ด้วยการอัลตราซาวนด์ และอาจมีการตรวจเลือดเพื่อดูระดับฮอร์โมน ก่อนที่จะแนะนำการใช้ยาและวิธีฉีดยาอย่างถูกต้อง
ผู้เข้ารับการรักษาจะได้รับชุดยาฮอร์โมนพร้อมคำแนะนำในการฉีด ซึ่งสามารถฉีดเองที่บ้านหรือให้แพทย์เป็นผู้ฉีดให้ในบางกรณี ซึ่งการฉีดยากระตุ้นไข่จำเป็นต้องทำในช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด ดังนั้นผู้ป่วยจึงต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
2. การฉีดยากระตุ้นไข่
การฉีดยากระตุ้นไข่จะเริ่มต้นในช่วงวันที่ 1-3 ของรอบประจำเดือน โดยผู้ป่วยจะต้องได้รับการฉีดยากระตุ้นหลายครั้ง และถ้าถามว่าการฉีดยากระตุ้นไข่จะใช้เวลากี่วัน คงต้องบอกว่า ระยะเวลาโดยประมาณจะอยู่ที่ 10-12 วัน เพื่อให้ไข่เติบโตอย่างเหมาะสม ซึ่งในขั้นตอนนี้มีรายละเอียด ดังนี้
- ครั้งที่ 1 : แพทย์จะทำการฉีดยากระตุ้นไข่ครั้งแรกภายใน 3 วันแรกของประจำเดือน เพื่อเริ่มกระบวนการกระตุ้นให้รังไข่สร้างไข่ได้หลายใบ
- ครั้งที่ 2 : หลังจากฉีดยาครั้งแรกไปแล้วประมาณ 3-5 วัน แพทย์จะนัดผู้ป่วยเข้ามาฉีดยากระตุ้นซ้ำ และทำอัลตราซาวนด์เพื่อตรวจสอบว่ารังไข่ตอบสนองต่อยาได้ดีหรือไม่
- ครั้งที่ 3 : หลังจากฉีดยาครั้งที่ 2 ไปแล้วประมาณ 4-5 วัน ผู้เข้ารับการรักษาจะต้องเข้าพบแพทย์อีกครั้งเพื่อตรวจสอบขนาดของไข่
ทุกครั้งที่ผู้ป่วยเข้าพบแพทย์เพื่อติดตามผล จะมีการทำอัลตราซาวนด์เพื่อตรวจสอบพัฒนาการของไข่ และอาจมีการเจาะเลือดเพื่อตรวจระดับฮอร์โมนร่วมด้วย กระบวนการนี้จะช่วยให้แพทย์สามารถปรับแผนการรักษาให้เหมาะสมกับร่างกายของผู้ป่วยแต่ละคน
3. การฉีดยากระตุ้นให้ไข่ตก
เมื่อไข่มีขนาดโตเต็มที่ แพทย์จะสั่งให้ฉีดยาฮอร์โมนอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเรียกกันว่า “Trigger Shot” เพื่อกระตุ้นให้ไข่ตกอย่างสมบูรณ์ ขั้นตอนนี้มีความสำคัญมาก เพราะหากฉีดยาในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม ไข่อาจยังไม่พร้อมสำหรับการเก็บ หรือในบางกรณีอาจทำให้ไข่ตกก่อนกำหนด
หลังจากฉีดยากระตุ้นให้ไข่ตกไปแล้วประมาณ 34-36 ชั่วโมง แพทย์จะนัดหมายวันสำหรับการเก็บไข่ ซึ่งผู้ป่วยจะต้องปฏิบัติตามตารางเวลาที่แพทย์กำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อให้กระบวนการนี้ดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการฉีดยากระตุ้นไข่
Q: การฉีดยากระตุ้นไข่ใช้เวลากี่วัน ?
A: กระบวนการฉีดยากระตุ้นไข่โดยทั่วไป จะใช้เวลาประมาณ 10-12 วัน ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของรังไข่ ในระหว่างนี้ ผู้เข้ารับการรักษาจะต้องเข้าพบแพทย์เพื่อติดตามผลและอาจมีการปรับขนาดยาตามความเหมาะสม หากไข่ยังไม่เจริญเติบโตดีพอ แพทย์อาจขยายระยะเวลาการฉีดเพิ่มเติม
Q: การฉีดยากระตุ้นไข่ มีความสำคัญอย่างไร ?
A: การกระตุ้นไข่เป็นขั้นตอนสำคัญของทั้งกระบวนการทำ ICSI และ IVF เพราะช่วยให้รังไข่มีฟองไข่โตจำนวนมากกว่าปกติ ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสในการเลือกไข่ที่มีคุณภาพดีที่สุดสำหรับการปฏิสนธิ การมีไข่ที่มากขึ้นจะช่วยให้สามารถเก็บไข่ไว้ใช้ในอนาคตหรือมีโอกาสได้ตัวอ่อนจำนวนมากขึ้น กรณีที่ต้องการมีบุตรเพิ่มในรอบต่อไป
Q: ต้องดูแลตัวเองอย่างไร ทั้งก่อนและระหว่างการกระตุ้นไข่ ?
A: การดูแลตัวเองทั้งก่อนและระหว่างการกระตุ้นไข่เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ร่างกายตอบสนองต่อการรักษาได้ดีที่สุด โดยมีข้อแนะนำดังนี้
- ก่อนเริ่มกระบวนการ : ปรึกษาแพทย์ ตรวจสุขภาพ และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
- ระหว่างการกระตุ้นไข่ ควรดูแลตัวเอง ดังนี้
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่มีโปรตีนสูงและอาหารที่มีโอเมก้า-3
- ดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อช่วยลดอาการบวมน้ำและความไม่สบายตัว
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนัก เนื่องจากรังไข่อาจขยายตัวและเสี่ยงต่อภาวะรังไข่บิดขั้ว (Ovarian Torsion)
- พักผ่อนให้เพียงพอและผ่อนคลายความเครียด เพื่อให้ร่างกายตอบสนองต่อฮอร์โมนได้ดี
- ฉีดยาให้ตรงเวลาและถูกต้องตามขนาดที่แพทย์แนะนำ
Q: การฉีดยากระตุ้นไข่มีผลข้างเคียงต่อร่างกายหรือไม่ ?
A: การฉีดยากระตุ้นไข่อาจมีผลข้างเคียงที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ซึ่งผลข้างเคียงที่มักพบบ่อย ได้แก่
- ท้องอืด แน่นท้อง
- อารมณ์แปรปรวน คล้ายอาการก่อนมีประจำเดือน
- ปวดหน่วงบริเวณท้องน้อย
- น้ำหนักเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการกักเก็บน้ำ
- ในบางกรณีที่พบไม่บ่อย อาจเกิดภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป (Ovarian Hyperstimulation Syndrome – OHSS) ทำให้เกิดอาการบวมและไม่สบายตัว หากมีอาการผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์
Q : หากรังไข่ไม่ตอบสนองต่อการฉีดยากระตุ้นไข่ ควรทำอย่างไร ?
A : หากรังไข่ไม่ตอบสนองต่อยาฉีดกระตุ้นไข่ แพทย์อาจพิจารณาทางเลือกอื่น ๆ ต่อไปนี้
- ปรับเปลี่ยนขนาดยา : เพิ่มหรือเปลี่ยนสูตรยากระตุ้นไข่ให้เหมาะกับร่างกายของผู้ป่วย
- ใช้โปรโตคอลอื่น: ในบางกรณี แพทย์อาจเปลี่ยนแผนการรักษาหรือใช้วิธีอื่นในการช่วยกระตุ้นไข่
- พิจารณาทางเลือกอื่น : หากรังไข่ไม่ตอบสนองเลย อาจต้องใช้ไข่บริจาค หรือเลือกแผนการรักษาอื่นที่เหมาะสมกับภาวะของผู้ป่วย
หากคุณกำลังวางแผนเข้ารับการรักษาภาวะมีบุตรยาก และต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอนการทำ ICSI อย่างละเอียด ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร (V Fertility Center) ซึ่งเป็นศูนย์เฉพาะทางด้านการรักษาภาวะมีบุตรยาก พร้อมให้คำแนะนำและดูแลคุณอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ขั้นตอนการรักษาดำเนินไปอย่างราบรื่นและเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์
บทความโดย พญ. วนากานต์ สิงหเสนา
ติดต่อสอบถามหรือนัดหมายแพทย์ ได้ที่
VFC ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร
Hotline: 082-903-2035
LINE Official: @vfccenter

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสูติ-นรีเวชวิทยาและเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
No Comments
Sorry, the comment form is closed at this time.