เปิดทุกวัน 8:00 น. - 17.00 น

เวลาทำการ

Follow Us

เมนส์มาแบบไหนถึงท้อง ? รู้ครบ เพื่อการวางแผนตั้งครรภ์

แพทย์กำลังอธิบายให้คนไข้ฟังว่าประจำเดือนมาปกติสามารถตั้งครรภ์ได้ไหม

หลายคนทราบดีว่าการมีประจำเดือนและการตั้งครรภ์เป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องกันโดยตรง เพราะเป็นผลมาจากการทำงานของระบบสืบพันธุ์เพศหญิง แต่ในความเป็นจริง ทั้งสองกระบวนการนี้มีรายละเอียดที่ซับซ้อนกว่าที่คิด และไม่ใช่แค่การมีประจำเดือนสม่ำเสมอเท่านั้นที่บ่งบอกถึงภาวะเจริญพันธุ์ที่สมบูรณ์ หากคุณกำลังวางแผนตั้งครรภ์ หรือมีคำถามว่าเมนส์มาแบบไหนถึงท้อง จำเป็นต้องเข้าใจปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อโอกาสในการตั้งครรภ์เสียก่อน ทั้งในช่วงไข่ตก ภาวะฮอร์โมน และสุขภาพของระบบสืบพันธุ์ เพื่อให้สามารถเตรียมร่างกายให้พร้อมและเพิ่มโอกาสในการมีบุตรได้สูงสุด

ความสัมพันธ์ระหว่างการมีประจำเดือนและการตั้งครรภ์

อยากรู้ว่าหากผู้หญิงมีประจำเดือนมาปกติสามารถตั้งครรภ์ได้ไหม สิ่งแรกที่ควรเข้าใจ คือความสัมพันธ์ระหว่างการมีประจำเดือนและการตั้งครรภ์ ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ประเด็นสำคัญด้วยกัน ดังนี้

การมีประจำเดือนเป็นสัญญาณของการตกไข่และรังไข่ที่ทำงานปกติ

ประจำเดือน หรือเมนส์ (Menstrual) คือ การหลุดลอกของเยื่อบุโพรงมดลูกที่ถูกขับออกทางช่องคลอดเมื่อไม่มีการปฏิสนธิของไข่ในรอบเดือนนั้น ๆ โดยทั่วไปจะเกิดขึ้นทุก 21-35 วัน และมีระยะเวลาประมาณ 2-7 วัน การมีประจำเดือนเป็นส่วนหนึ่งของรอบไข่ตกในแต่ละเดือน ซึ่งถูกควบคุมโดยฮอร์โมน และเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าระบบสืบพันธุ์ทำงานปกติ

สำหรับผู้ที่มีประจำเดือนสม่ำเสมอทุก 28 วัน บ่งชี้ว่ามีการตกไข่เกิดขึ้นอย่างปกติ การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันในช่วงระยะเวลาที่ไข่ตก จึงช่วยเพิ่มอัตราประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์ได้

ประจำเดือนไม่มาหลังมีเพศสัมพันธ์ อาจเป็นสัญญาณแรกว่าเกิดการตั้งครรภ์

เมื่อไข่ได้รับการผสม ก็จะฝังตัวเข้าไปที่โพรงมดลูกและพัฒนาเป็นตัวอ่อนต่อไป ส่งผลให้เยื่อบุโพรงมดลูกไม่หลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน ดังนั้น หากประจำเดือนขาดหายไปหลังจากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน อาจเป็นสัญญาณแรกของการตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม ควรสังเกตอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อ่อนเพลีย หรือปัสสาวะบ่อย ซึ่งสามารถยืนยันผลเบื้องต้นได้ด้วยการตรวจการตั้งครรภ์ด้วยชุดทดสอบปัสสาวะ

ประจำเดือนมาไม่ปกติ อาจบ่งบอกถึงภาวะมีบุตรยาก

ประจำเดือนที่มาไม่สม่ำเสมอ เช่น รอบเดือนสั้นกว่า 24 วัน หรือยาวกว่า 35 วัน อาจบ่งบอกถึงปัญหาการตกไข่ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะมีบุตรยาก การมีประจำเดือนขาด ๆ หาย ๆ หรือมาไม่ปกติ อาจเกิดจากฮอร์โมนไม่สมดุลหรือปัญหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธุ์ ซึ่งส่งผลต่อกระบวนการตกไข่และอัตราการตั้งครรภ์โดยตรง

การมีเพศสัมพันธ์ขณะมีประจำเดือน สามารถตั้งครรภ์ได้เช่นกัน

แม้ว่าการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงมีประจำเดือนจะมีโอกาสตั้งครรภ์ได้น้อยก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถการันตีได้ว่าจะไม่เกิดการตั้งครรภ์เสมอไป เนื่องจากอสุจิสามารถมีชีวิตอยู่ในช่องคลอดได้นานถึง 72 ชั่วโมง และหากผู้หญิงมีรอบเดือนสั้นหรือไข่ตกเร็ว โอกาสตั้งครรภ์ก็จะเพิ่มขึ้น ดังนั้น การใช้วิธีคุมกำเนิดที่เหมาะสม เช่น การใส่ถุงยางอนามัย จะช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้ดีกว่า

เมนส์มาปกติ มีโอกาสท้องได้ไหม ?

เมนส์มาแบบไหนถึงท้อง ?

เมนส์มา ท้องได้ไหม ?

สืบเนื่องจากความเกี่ยวข้องระหว่างการตั้งครรภ์และการมีประจำเดือน ทำให้คำถามข้างต้น เป็นคำถามที่ผู้หญิงส่วนใหญ่สงสัย ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว หากเกิดการตั้งครรภ์ ร่างกายจะหยุดกระบวนการตกไข่และหลุดลอกของเยื่อบุโพรงมดลูก ส่งผลให้หญิงตั้งครรภ์ไม่มีประจำเดือน  

อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงบางคนอาจมีเลือดออกระหว่างตั้งครรภ์ในระยะแรก ซึ่งอาจทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นประจำเดือนได้ โดยสาเหตุของเลือดออกระหว่างตั้งครรภ์ ได้แก่ Implantation Bleeding หรือที่ภาษาพูดเรียกว่าเลือดล้างหน้าเด็ก เกิดจากการฝังตัวของตัวอ่อนในเยื่อบุโพรงมดลูก มักเกิดในช่วงเวลาเดียวกับที่ควรมีประจำเดือน แต่เลือดจะออกน้อยกว่าและอยู่เพียง 1-2 วันเท่านั้น

ทั้งนี้ การมีเลือดออกขณะตั้งครรภ์ไม่ใช่สิ่งที่ควรนิ่งนอนใจ แนะนำให้สังเกตลักษณะของเลือดและอาการร่วม เช่น ปวดท้องรุนแรงหรือวิงเวียนศีรษะ และควรปรึกษาแพทย์ทันที เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และทารกในครรภ์

ผู้หญิงวางแผนตั้งครรภ์กับศูนย์ให้คำปรึกษามีบุตรยากในกรุงเทพฯ

แนวทางการวางแผนตั้งครรภ์ควบคู่กับการมีประจำเดือน

สำหรับคู่สมรสที่วางแผนตั้งครรภ์ การวางแผนควบคู่กับการมีประจำเดือน ถือเป็นวิธีที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการมีบุตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากรอบเดือนเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญของการตกไข่และภาวะเจริญพันธุ์ สามารถเริ่มต้นได้ด้วย 3 แนวทางง่าย ๆ ได้แก่

ติดตามรอบประจำเดือนอย่างสม่ำเสมอ

การวางแผนตั้งครรภ์ด้วยตนเอง เริ่มต้นได้จากการติดตามรอบประจำเดือนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ทราบว่าร่างกายมีรอบเดือนปกติหรือไม่ และสามารถคำนวณช่วงที่มีโอกาสตั้งครรภ์ได้ง่ายขึ้น โดยสามารถทำตามแนวทางเหล่านี้

  • จดบันทึกวันแรกของประจำเดือนทุกเดือน เพื่อดูว่ารอบเดือนของคุณอยู่ที่กี่วัน (ปกติอยู่ระหว่าง 21-35 วัน)
  • หากประจำเดือนมาสม่ำเสมอ แสดงว่าร่างกายมีการตกไข่ตามปกติ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการตั้งครรภ์
  • หากรอบเดือนมาไม่สม่ำเสมอ เช่น เว้นช่วงนานเกินไปหรือมาไม่ตรงเวลา ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุ เช่น ภาวะรังไข่เสื่อมหรือภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) ที่อาจส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์

คำนวณช่วงไข่ตกเพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์

ช่วงที่มีโอกาสตั้งครรภ์สูงที่สุดคือช่วงไข่ตก (Ovulation) ซึ่งโดยทั่วไปจะเกิดขึ้น 10-16 วันก่อนมีประจำเดือนรอบถัดไป สำหรับผู้ที่มีรอบเดือน 28 วัน ไข่จะตกประมาณวันที่ 14 ของรอบเดือน แต่หากรอบเดือนยาวกว่าหรือสั้นกว่า 28 วัน สามารถคำนวณวันไข่ตกได้โดยใช้สูตร

วันไข่ตก = จำนวนวันของรอบเดือน – 14

ยกตัวอย่างเช่น รอบเดือน 30 วัน จะคำนวณได้ว่า 30-14 = 16 หมายความว่าไข่ตกประมาณวันที่ 16 หากอยากตั้งครรภ์ ควรมีเพศสัมพันธ์ในช่วง 2-3 วันก่อนวันไข่ตก และต่อเนื่องไปอีก 1-2 วันหลังไข่ตก เพื่อเพิ่มโอกาสในการปฏิสนธิ เนื่องจากอสุจิสามารถมีชีวิตอยู่ในร่างกายได้นานถึง 5-7 วัน

ใช้เครื่องมือช่วยติดตามการตกไข่

เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการคำนวณวันไข่ตก ปัจจุบัน มีเครื่องมือช่วยติดตามการตกไข่ให้เลือกใช้มากมาย เช่น

  • แอปพลิเคชันติดตามรอบเดือน สำหรับคำนวณช่วงไข่ตกตามข้อมูลรอบเดือนที่ผ่านมา
  • ใช้ชุดทดสอบไข่ตก (Ovulation Test Kit) เพื่อตรวจระดับ Luteinizing Hormone (LH) ในปัสสาวะ โดยระดับฮอร์โมนจะเพิ่มขึ้นก่อนไข่ตกประมาณ 12-36 ชั่วโมง
  • การสังเกตมูกปากมดลูก มีลักษณะใส ยืดได้คล้ายไข่ขาว เพื่อช่วยให้อสุจิเคลื่อนที่ไปปฏิสนธิได้ง่ายขึ้น

ได้คำตอบแล้วว่าประจำเดือนมาปกติสามารถตั้งครรภ์ได้ไหม หากพยายามมีบุตรด้วยการมีเพศสัมพันธ์ตามธรรมชาติเกิน 1 ปี หรือ 6 เดือนในผู้หญิงอายุ 35 ปีขึ้นไป แล้วยังไม่ประสบความสำเร็จ อาจเข้าข่ายมีปัญหามีบุตรยาก แนะนำให้เข้ารับคำปรึกษาและวางแผนการมีบุตรร่วมกับแพทย์เฉพาะทางได้ที่ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร (VFC Center) ศูนย์ให้คำปรึกษามีบุตรยากในกรุงเทพมหานคร พร้อมเทคโนโลยีการรักษาและเครื่องมือที่ทันสมัย ห้องปฏิบัติการได้มาตรฐานระดับสากล เรายินดีอยู่เคียงข้างคุณจนประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์

 

บทความโดย แพทย์ศรมน ทรงวีรธรรม

ติดต่อสอบถามหรือนัดหมายแพทย์ ได้ที่ 

VFC ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร 

Hotline: 082-903-2035 

LINE Official: @vfccenter

ข้อมูลอ้างอิง:

 

No Comments

Sorry, the comment form is closed at this time.